ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 31.81 อ่อนค่าต่อเนื่องจากช่วงเช้า ตลาดรอความชัดเจนจากปัจจัยใน-ตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 20, 2020 18:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้ที่ระดับ 31.81 บาท/ดอลลาร์ จากตอนเช้าที่ เปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 31.78 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเคลื่อนไหวระหว่าง 31.68-31.85 บาท/ดอลลาร์

"เงินบาทอ่อนค่าจากสถานการณ์โควิดและการเมืองในประเทศ ขณะที่ผู้ว่า ธปท.ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเงินบาท"
นักบริหารเงิน ระบุ

นักบริหารเงิน คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทไว้ระหว่าง 31.65-31.85 บาท/ดอลลาร์ ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ สถานการณ์โควิดและการเมืองในประเทศ, ตัวเลขนำเข้าและส่งออกของไทย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังเพิ่มเติมทั้งใน สหรัฐฯ และยุโรป

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ 107.23 เยน/ดอลลาร์ จากตอนเช้าที่อยู่ที่ระดับ 107.35 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ 1.1456 ดอลลาร์/ยูโร จากตอนเช้าที่อยู่ที่ระดับ 1.1416 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,358.29 จุด ลดลง 1.29 จุด, -0.09% มูลค่าการซื้อขาย 52,303.87 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 227.35 ลบ.(SET+MAI)
  • ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนต่างๆ ทั้ง
ในประเทศและต่างประเทศ จากผลพวงของสถานการณ์โควิด-19 โดยมองว่าจะมีความผันผวนมากขึ้นในตลาดการเงิน และตลาดทุนที่เกี่ยว
เนื่องกับต่างประเทศ เนื่องจากในปัจจุบันมีสภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมาก จากการที่ธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลักได้อัดฉีด
สภาพคล่องเข้าสู่ระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด รวมถึงการแพร่ระบาดในต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก ซึ่งเมื่อมีสภาพ
คล่องส่วนเกินสูงในระบบการเงินโลก จึงทำให้เกิดความผันผวนได้ง่ายขึ้นเมื่อมีข่าวหรือมีข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยในไตรมาส 2/63 จะลดลง -52.2%
ถึง -42.0% มาอยู่ที่ 2.68-3.25 หมื่นล้านบาท จากที่มีกำไรสุทธิ 6.37 หมื่นล้านบาทในไตรมาสที่ 1/63 โดยเป็นผลมาจากการลดลง
ของรายได้จากธุรกิจหลัก ท่ามกลางผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และการตั้งสำรองฯ เพื่อเตรียมการรองรับความไม่แน่นอนของ
ประเด็นคุณภาพของสินเชื่อในช่วงหลายไตรมาสข้างหน้า ขณะที่แนวทางการตั้งสำรองฯ ของแต่ละธนาคารจะมีความแตกต่างกันตามลักษณะ
ของพอร์ตสินเชื่อ
  • ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ชี้แจงว่า ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 2/63 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/63
ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้จำนวน 25,378 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จำนวน 4,806 ล้านบาท หรือ 23.37% โดยธนาคารและบริษัทย่อยพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่า
จะเกิดขึ้น เพิ่มจำนวน 8,320 ล้านบาท หรือ 70.08% จากไตรมาสก่อน ทำให้กำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 2/63 อยู่ที่จำนวน 2,175 ล้าน
บาท ลดลงจากไตรมาสก่อนจำนวน 5,200 ล้านบาท หรือ 70.50%
  • ธนาคารทหารไทย (TMB) แจ้งผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 63 รายได้เพิ่มขึ้นตามการรับรู้รายได้จากธนาคาร
ธนชาต (TBANK) เข้ามาในงบการเงินรวม ขณะที่การบริหารค่าใช้จ่ายเพื่อการดำเนินงานและเพื่อการรวมกิจการเป็นไปอย่างมี
ประสิทธิภาพ จึงทำให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ เพิ่มขึ้น 119.2% จากครึ่งแรกของปี 62 มาอยู่ที่ 18,653 ล้านบาท
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาว่า เศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในช่วงไตรมาส 2/63
ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก ซึ่งเศรษฐกิจไทยจากนี้ไปคงเป็นลักษณะการทยอยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าจะกลับมา
ฟื้นตัวสู่ระดับปกติเหมือนกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิดราวปลายปี 64 ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะต้องไม่มีการระบาดรุนแรงซ้ำอีก
  • นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ยืนยันไม่ต้องการกลับมาดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศอีกเป็นครั้งที่สอง ชี้การดำเนินการล็อก
ดาวน์เปรียบเสมือน "การยับยั้งนิวเคลียร์"
  • กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดส่งออกเดือนมิ.ย.ร่วงลง 26.2% แตะที่ระดับ 4.86 ล้านล้านเยน เมื่อ
เทียบเป็นรายปี ขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 14.4% แตะที่ 5.13 ล้านล้านเยน ซึ่งส่งผลให้ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้าในเดือนมิ.ย.ที่ระดับ
2.6882 แสนล้านเยน (2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 15-16 มิ.ย. ในวันนี้ โดยกรรมการ BOJ แสดง
ความกังวลว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจเผชิญภาวะเงินฝืด แต่ยืนยันว่า BOJ จะยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทต่างๆล้ม
ละลายเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19
  • โฆษกกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยว่า ผู้นำ 27 ชาติของ EU จะประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันนี้ที่กรุงบรัสเซลส์ หลังจาก
ที่การประชุมตลอดระยะเวลา 3 วันที่ผ่านมา ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร (8.55 แสน
ล้านดอลลาร์) เพื่อช่วยเยียวยาเศรษฐกิจ EU จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19
  • นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโอเวอร์ซีส์-ไชนีส แบงกิ้ง คอร์ป (OCBC) กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่
จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากกลุ่มอาเซียนส่งออกสินค้าไปยังจีนเป็นจำนวนมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ