KBANK ประเมินกรอบเงินบาทสิ้นปีกลับมาแข็งค่าที่ 30.05 หลังดอลลาร์เผชิญหลายปัจจัยกดดัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 29, 2020 17:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 30.50 ในช่วงสิ้นปี 63 นี้ หลังจากที่เงินบาทแตะอ่อนค่าไปในกรอบ 31.50-32.00 ตามที่ประมาณการไวก่อนหน้านี้ จากแรงกดดันจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ประกอบกับแนวโน้มการคงนโยบายการเงินในไทยและโครงสร้างดุลชำระเงินของไทยที่สนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาท โดยคาดว่าการอ่อนค่าอย่างรุนแรงของเงินดอลลาร์จะกดดันให้เงินบาทมีแนวโน้มจะทยอยแข็งค่าสอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นในช่วงที่เหลือของปี

สำหรับปัจจัยที่เงินดอลลาร์มีแนวโน้มถูกกดดันให้อ่อนค่าจากหลายปัจจัย ได้แก่

1. นักลงทุนถือครองทองคำสูงขึ้น จากทั้งความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ลดลงและความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์สหรัฐฯ-จีน โดยล่าสุด ราคาทองคำพุ่งขึ้นแตะระดับ 1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

  • ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ลุกลามไปมากกว่าประเด็นการค้า ทั้งการต่อต้านการใช้เทคโนโลยีจากจีน การกล่าวหาว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวฮ่องกง และนำไปสู่การยกเลิกสิทธิพิเศษฮ่องกงและสั่งปิดกงสุลของจีนในสหรัฐฯ
  • การระบาดของไวรัสโควิด-19 ฉุดการขยายตัวเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวรุนแรงถึง4.9% ในปีนี้ และการระบาดของเชื้อไวรัสที่รุนแรงในสหรัฐฯ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะหดตัวถึง 8%
  • สภาพคล่องดอลลาร์พุ่งขึ้นล้นตลาด เนื่องจากมาตรการซื้อสินทรัพย์ของเฟด ทำให้นักลงทุนเริ่มหันไปลงทุนสินทรัพย์อื่นๆ กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ทั้งนี้ ประสบการณ์จากวิกฤตซับไพรม์ ขนาดงบดุลของเฟดเพิ่มขึ้นราว 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงถึง 16% ขณะที่มาตรการของเฟดในปัจจุบันทำให้ขนาดงบดุลของเฟดเพิ่มขึ้น 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่เดือนกันยายน 62
  • ความเสี่ยงทางการคลังของสหรัฐฯ สูงขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ทำให้ปัญหาหนี้ สาธารณะรุนแรงขึ้น โดยสหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณในช่วง 9 เดือนแรกของปี งบประมาณถึง 2.74 ล้านล้านดอลลาร์ และสำนักงบประมาณสหรัฐฯ ประเมินว่า สหรัฐฯ จะขาดดุลงบประมาณทั้งสิ้น 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณนี้ ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นกว่า 130% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 63

2. ความเชื่อมั่นต่อเงินยูโรสูงขึ้นเทียบกับดอลลาร์เนื่องจากสถานการณ์การระบาดในยุโรปที่ดีขึ้นและดีกว่าสหรัฐฯ ที่การรระบาดยังรุนแรง รัฐบาลในยูโรโซนผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง ขณะที่ ผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ กลับมาเพิ่มขึ้นเป็ นระลอกที่สอง ส่งผลให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้น รวมทั้งมาตรการทางการคลังในยุโรปทั้งการอนุมัติกองทุนฟื้นฟูยุโรป และมาตรการกระต้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของเยอรมนีและอิตาลี ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจยุโรปมากขึ้น

3. นายโจ ไบเดน มีโอกาสชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ผลสำรวจคะแนนนิยมในการเลือกตั้งล่าสุด พบว่าคะแนนนิยมของไบเดนนำประธานาธิบดีทรัมป์ อยู่ที่ 50.6 ต่อ 40.7 อีกทั้งผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่สองในช่วงเศรษฐกิจถดถอยส่วนใหญ่ในอดีตประธานาธิบดีในขณะนั้นจะพ่ายแพ้การเลือกตั้ง

หากไบเดนชนะการเลือกตั้งประเมินว่าจะกดดันเงินดอลลาร์และสนับสนุนเงินเอเชีย เนื่องจากไบเดนสนับสนุนนโยบายที่ไม่เป็ นผลดีต่อบริษัทและตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาทิ นโยบายขึ้นภาษีนิติบุคคล ปฏิรูประบบสุขภาพ ปรับปรุงกฎหมายป้องกันการผูกขาด เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งควบคุมกิจกรรมพลังงาน ขณะที่นโยบายการต่างประเทศคาดว่าจะส่งผลลบต่อเอเชียน้อยกว่าทรัมป์ แม้ว่าไบเดนต้องการจำกัดบทบาทการค้า การลงทุน และเทคโนโลยีของจีนเช่นเดียวกับทรัมป์ แต่คาดว่าจะมีทิศทางนโยบายที่ชัดเจนและมีแนวทางที่ประนีประนอมมากกว่า

4. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยอย่างน้อยถึงสิ้นปีเนื่องจากไทยมีมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูทางการคลังในระดับสูงรองรับแล้ว ทำให้ความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมน้อยลง โดยปัจจุบัน ดอกเบี้ยไทยอยู่ในระดับต่ำมากที่ 0.50% ประกอบกับ ธปท. อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ผู้นำคนใหม่จึงอาจยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายการเงิน ทั้งนี้ หากไม่มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยจะสูงสุดเป็นอันดับสองของเอเชีย และเป็นปัจจัยดึงดูดเงินทุนไหลเข้า

5. ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยยังคงเกินดุลแม้ว่าได้รับผลกระทบจากไวรัส ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยยังมีแนวโน้มเกินดุล แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและการส่งออกไทย แต่ดุลการค้าไทยที่คาดว่าจะยังเกินดุลสูงจะสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาท เนื่องจาก (1) แนวโน้มราคาทองที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เป็นจังหวะให้ผู้ค้าทองคำส่งออกทองคำเพื่อทำกำไร และ (2) มูลค่านำเข้าของไทยมีแนวโน้มหดตัวรุนแรงกว่าการส่งออกที่อ่อนแอตามเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน รายได้ของผู้ประกอบการและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ทำให้การบริโภค การผลิต และการลงทุนชะงักลง ประกอบกับต้นทุนการนำเข้าพลังงานที่ยังต่ำ ทำให้ความต้องการเงินดอลลาร์เพื่อนำเข้าสินค้ายังน้อยกว่าความต้องเงินบาทจากการแปลงรายได้จากการส่งออก

6. ไทยเสี่ยงเข้ากลุ่มเฝ้าระวังเป็นผู้แทรกแซงค่าเงิน ในรายงานฉบับต่อไปของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ซึ่งจะประกาศในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากข้อมูลล่าสุดถึงเดือนพฤษภาคม 63 ชี้ ว่า ไทยมีโอกาสเข้าเกณฑ์ 2 ใน 3 ข้อที่สหรัฐฯ กำหนดโดยไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 6.35% ของจีดีพีจากเกณฑ์ 2% และเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงถึง 21,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากเกณฑ์ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาจทำให้ ธปท. ระมัดระวังการบริหารจัดการเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น

ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อประมาณการค่าเงินบาทปี 63 KBANK ระบุว่า ประกอบด้วย 1. การแพร่ระบาดของไวรัสระลอกที่ 2 ในไทย หากการเปิดเมืองในระยะต่อไปทำให้การระบาดของไวรัสในประเทศเกิดขึ้นอีกครั้ง จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะถ้ารัฐบาลต้องกลับมาปิดเมืองเป็นครั้งที่ 2

2. เศรษฐกิจไทยเสี่ยงฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น เนื่องจากไทยพึ่งพิงเศรษฐกิจต่างประเทศในระดับสูง โดยเฉพาะรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูง 14% ของจีดีพีไทยและสูงที่สุดในโลก การระบาดของไวรัสที่ยังไม่ยุติลงทั่วโลกทำให้ไทยยังไม่มีแนวโน้มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเวลานี้ กระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

3. ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ในทะเลจีนใตที่อาจรุนแรงขึ้น เมื่อสหรัฐฯ ประกาศว่าการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนเหนือน่านน้ำส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้ผิดกฎหมายซึ่งเป็นการประกาศเลือกข้างครั้งแรกของสหรัฐฯ และสนับสนุนคำพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเมื่อปี 59 ที่ว่า จีนไม่มีสิทธิ์ตามประวัติศาสตร์ในบริเวณดังกล่าว ความขัดแย้งนี้ อาจลุกลามจนเป็นการเผชิญหน้าในภูมิภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ