กมธ.พาณิชย์เสียงแตกหาข้อยุติชะลอยกร่างกม.ค้าปลีกรอความเห็นผู้เชี่ยวชาญ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 2, 2007 18:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          คณะกรรมาธิการพาณิชย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ยังมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ที่สนช.จะยกร่างฯ ขึ้นมาควบคู่กับร่างกฎหมายที่กระทรวงพาณิชย์จัดทำขึ้น ซึ่งกรรมาธิการฯ บางคนต้องการให้รับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจากธุรกิจค้าปลีกค้าส่งก่อน ขณะที่บางคนต้องการให้เสนอร่างที่จัดทำเสร็จสมบูรณ์แล้วเสนอ สนช.ทันที
ว่าที่ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ สนช. กล่าวว่า ในวันที่ 8 ส.ค. คณะกรรมาธิการจะหารือร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่งอีกครั้ง หากผลประชุมสรุปว่ายังไม่ให้เสนอร่างในทันทีหรือไม่อนุมัติให้เสนอร่างต่อสนช. ตนจะใช้ฐานะสมาชิกสนช.เสนอร่างด้วยตัวเองเพื่อไม่ให้เรื่องยืดเยื้อ เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวไม่เสร็จทันรัฐบาลชุดนี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ยอมแก้ไขรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแนะนำทั้งหมด 3 มาตรา โดยยอมแก้ไขตาม 2 มาตรา คือมาตรา 4 เรื่องคำนิยามการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ได้แก้ไขให้คำจำกัดความประเภทธุรกิจที่ต้องกำกับดูแลแคบลงมา, มาตรา 9 เรื่องคณะกรรมการสรรหา ได้ยกเลิกการตั้งคณะกรรมการสรรหา เพื่อสรรหาบุคคลที่จะมาเป็นคณะกรรมการกลางกำกับธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง (กกค.) โดยให้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาเป็นกกค.เลย ส่วนมาตรา 23 เรื่องให้มีคณะกรรมการระดับจังหวัดกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง(กจค.) ซึ่งกฤษฎีกาแนะนำให้ยกเลิกกจค. แต่กระทรวงพาณิชย์ยืนยันจำเป็นต้องมี เพราะกกค.ไม่สามารถดูแลพื้นที่ได้ทั่วถึง
ปัจจุบันกฤษฎีกาพิจารณาถึงมาตรา 35 จาก 66 มาตรา แต่ก็มีข่าวว่ากฤษฎีกาจะส่งเรื่องคืนกลับคณะรัฐมนตรี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์รออยู่ โดยหวังว่าหากกฤษฎีกาต้องการผลักดันให้ พ.ร.บ.นี้เกิดขึ้นจริงหลังจากที่เสนอคณะรัฐมนตรีแล้ว ก็ไม่ควรส่งกลับมายังกระทรวงอีก แต่ควรให้กระทรวงไปร่วมแก้ไขรายละเอียดในคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ พ.ร.บ.สามารถส่งเข้าสนช.เร็วที่สุด เพราะขณะนี้ล่าช้ามานานแล้ว
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ได้รับหนังสือจากสมาพันธ์ต้านค้าปลีกข้ามชาติ ซึ่งเรียกร้องใน 3 ประเด็น โดยขอให้กระทรวงพาณิชย์ยับยั้งการขยายสาขาของห้างค้าปลีกต่างชาติ และต้องให้คำตอบเรื่องดังกล่าวภายในวันที่ 7 ส.ค. พร้อมทั้งให้เร่งรัด พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่งออกมาบังคับใช้เร็วที่สุด และให้กำหนดใน พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ว่าการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งจะต้องเป็นธุรกิจสงวนของคนไทยเท่านั้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ