รฟม.แจงเปลี่ยนเงื่อนไขประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่ได้คิดล็อกสเปก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 25, 2020 13:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยกรณีที่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ยื่นเรื่องคัดค้านการเปลี่ยนแปลงวิธีการประเมินข้อเสนอร่วมลงทุนให้เป็นรูปแบบการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่ด้านราคาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ.2562 และ รฟม.เปลี่ยนแปลงวิธีการประเมินจากเดิมพิจารณาซองเทคนิค และซองการลงทุนและผลตอบแทน แยกออกจากกัน เพราะเห็นว่าเป็นโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะส่วนตะวันตก ซึ่งจะต้องใช้เทคนิคการก่อสร้างที่มีความซับซ้อนเนื่องจากเป็นการดำเนินงานก่อสร้างใต้ดินทั้งหมด ประกอบกับแนวเส้นทางที่พาดผ่านเข้าในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่อ่อนไหวหลายแห่ง โดยเฉพาะกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นในต้องก่อสร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงการเดินรถไฟฟ้าที่ต้องการมาตรฐานความปลอดภัยชั้นสูง

ขณะเดียวกันใน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ สามารถปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอเป็นไปตามมาตรา 35 และมาตรา 38 ที่ให้สามารถปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงได้ก่อนวันยื่นซองเอกสารข้อเสนอ รฟม. ซึ่งได้มีหนังสือแจ้งเมื่อ 27 ส.ค.63 ต่อเอกชนที่ซื้อซองเอกสารว่าจะพิจารณาข้อเสนอทั้งด้านเทคนิคและข้อเสนอด้านราคาควบคู่กันไป โดยได้ขยายเวลาการยื่นข้อเสนอออกไปเป็นวันที่ 9 พ.ย.63 จากเดิม 23 ก.ย. 63 หรือมีระยะเวลาก่อนยื่นข้อเสนอมากกว่า 70 วัน

นายภคพงศ์ กล่าวว่า สาเหตุที่มาเปลี่ยนแปลงวิธีประเมินหลังขายซองเอกสารประมูลไปแล้ว เพราะมีระยะเวลากระชั้นชิดจึงต้องเร่งประกาศขายซองออกไปก่อน แต่ก็มีแนวคิดตั้งแต่รับฟังความเห็นเอกชน ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการ มาตรา 36 ก็มีมติไม่เป็นเอกฉันท์และ สั่งให้ รฟม.ศึกษา แต่ด้วยระยะเวลาจำกัดจึงยังไม่ได้ดำเนินการ โดยยืนยันว่าการปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอไม่ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอรายใด ถือว่าทุกรายได้ข้อมูลเท่าเทียมกัน

พร้อมยกตัวอย่างการประมูลโครงการก่อนหน้าที่มีเปลี่ยนแปลงวิธีการประเมินลักษณะเดียวกัน ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงแรก โครงการทางด่วน หรือการจัดซื้อจัดจ้าง e-Passport ต่างก็มีการใช้คะแนนเทคนิคมาร่วมการพิจารณาด้วย

"อยากยืนยันว่า รฟม.ดำเนินเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดเราคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดกับผู้ใช้บริการและภาครัฐ...ยืนยันว่าไม่ได้ล็อกสเปก ผู้ซื้อซอง ได้รับเอกสารเพิ่มเติม และมีเวลาเพียงพอ" ผู้ว่า รฟม.กล่าว

ทั้งนี้ ในเอกสารการประมูลระบุว่าเอกชนที่ยื่นข้อเสนอต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ทำอุโมงค์ใต้กินรัศมีไม่น้อยกว่า 5 เมตรและมีมูลค่างานไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท หากเอกชนรายใดเป็นผู้มีประสบการณ์ทำอุโมงค์ และเป็นผู้รับเหมาไทยก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม รฟม.สงวนสิทธิ์กำหนดเกณฑ์ย่อยด้านเทคนิคหลังจากรับข้อเสนอแล้ว

โดยปัจจุบันมีผู้รับเหมาที่ทำอุโมงค์ขนาดใหญ่ทั้งที่ซื้อซองเอกสารประมูล และไม่ซื้อซอง รวมกันประมาณ 4-5 ราย และผู้รับเหมาที่ไม่ได้ซื้อซองก็สามารถรับงานได้ในลักษณะผู้รับเหมาช่วง (Sub-Contract) โดยมีผู้รับเหมาที่เคยทำอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา 2 ราย เช่นเดียวกับซัพพลายเออร์ที่ไม่ต้องซื้อซองได้ แต่ทั้งนี้กำหนดให้ Lead ต้องเป็นผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้าในประเทศเท่านั้น

ผู้ว่า รฟม.กล่าวว่า ในการพิจารณาการประเมินข้อเสนอไม่ได้ให้น้ำหนักด้านเทคนิคมากเกินไป คือ ให้คะแนน 30 คะแนน ส่วนด้านการเงิน 70 คะแนน ซึ่งในนี้จะมีความน่าเชื่อถือของสมมุติฐานด้านการเงินด้วยอีก 10 คะแนน

"เราก็แปลกใจ ว่าบีทีเอส ไปกังวลอะไรถ้าคิดว่ามีข้อเสนอที่มีคุณภาพ เพราะเราต้องการเพียงข้อเสนอที่มีคุณภาพ มีเทคนิคงานก่อสร้างที่มีมาตรฐานและความปลอดภัย เราคงไม่อยากให้เกิดเหมือนในข่าวที่ผ่านมากรณีที่รถไฟฟ้าสีชมพูถล่มลงมา และการก่อสร้างรถไฟที่ปากช่องที่ถล่ม" นายภคพงศ์. กล่าว

ทั้งนี้ BTS ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา และได้นัดไต่สวน รฟม.เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ รฟม.ขอเลื่อนออกไปก่อน และรอศาลนัดใหม่อีกครั้ง ซึ่งผู้ว่า รฟม.กล่าวว่า หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินก็พร้อมปฏิบัติตาม

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาทมีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ระยะทาง. 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

อนึ่ง รฟม.ได้เปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ในวันที่ 10-24 ก.ค.63 โดยมีเอกชนเข้าซื้อซอง 10 ราย ได้แก่ 1.บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 2.บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) 3.บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) 4.บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) 5.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) 6.บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) 7.บมจ. ช.การช่าง (CK) 8.บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) 9.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด 10.บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด

ต่อมา ITD ได้ยื่นคำร้องต่อต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เมื่อวันที่ 7 ส.ค.63 ว่าโครงการสายสีส้มเป็นโครงการขนาดใหญ่ไม่ควรพิจารณาให้ผู้ชนะการคัดเลือกเป็นผู้เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค ความน่าเชื่อถือ ศักยภาพและความสามารถของผู้นื่นข้อเสนอ

และในวันที่ 21 ส.ค.63 รฟม.ก็ได้เปลี่ยนแปลงวิธีประเมินข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และให้ยื่นข้อเสนอในวันที่ 9 พ.ย. 63 และจะพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติและเปิดซองในวันที่ 23 พ.ย.63 และจะเปิดข้อเสนอด้านเทคนิค และด้านราคาพร้อมกันที่ต้องใช้เวลาการประเมินคาดว่ารู้ผลต้นปี 64 หรือประมาณเดือน ม.ค.64


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ