สภาพัฒน์ จับตาหนี้ครัวเรือนใกล้ชิด ห่วงกระทบการเติบโตสินเชื่อ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 25, 2020 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ บรรยายในหัวข้อ "ปิดเพดานหนี้ฐานราก ปรับโครงสร้างหนี้ประเทศ" ในงานสัมมนา "ทางเลือก ทางรอด ฝ่าวิกฤต หนี้" โดยระบุว่า "หนี้" ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน ไม่ว่าประชาชนหรือภาคธุรกิจ สำหรับหนี้ในภาพรวมแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ หนี้สาธารณะ, หนี้ภาคธุรกิจ และหนี้ครัวเรือน

สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือน ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตาใกล้ชิด โดยปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 80% ของจีดีพี ซึ่งส่วนมากแล้วจะเป็นหนี้ระยะยาวถึง 34% เช่น สินเชื่อบ้าน รองลงมาเป็นสินเชื่ออุปโภคบริโภค 27% โดยในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภค หรือสินเชื่อส่วนบุคคลนี้ภาครัฐจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะจะมีส่วนทำให้เกิดปัญหาในอนาคต นอกจากนี้ ยังพบว่าประชาชนเป็นหนี้เร็วขึ้น ดังนั้นจะต้องหาแนวทางว่าทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้หากจะสร้างหนี้ ก็ต้องเป็นหนี้ที่มีคุณภาพ เพื่อนำไปสู่การลงทุนหรือรายได้ที่มากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ดี หนี้ครัวเรือนของไทยเริ่มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตั้งแต่กลางปี 62 จากผลของมาตรการต่างๆ ที่เข้มข้น รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ที่ ธปท.ออกมา ก็มีส่วนช่วยทำให้หนี้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มลดลงด้วย

สำหรับหนี้ภาคธุรกิจนั้น นายดนุชา มองว่า จาก พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่ปัจจุบันสามารถปล่อยสินเชื่อไปได้เพียงแสนกว่าล้านบาทนั้น ในประเด็นนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์อาจจะต้องมาหารือร่วมกันว่าจะมีการปรับปรุงเงื่อนไขการปล่อยกู้ดังกล่าวอย่างไรให้ผ่อนคลายขึ้น

ส่วนหนี้สาธารณะของประเทศ ล่าสุด ณ สิ้นเดือนก.ค.63 อยู่ที่ระดับ 47% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี ซึ่งอยู่ที่ระดับ 41% ของจีดีพี อย่างไรก็ดี อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะดังกล่าว ยังไม่มีความน่ากังวล เพราะอยู่ในกรอบที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยยังไม่เกินกรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ที่ระดับ 60% ของจีดีพี "ตัวเลขหนี้สาธารณะช่วงต้นปีอยู่ที่ 41% พอตั้งแต่กลางปีขยับขึ้นมาอยู่ที่ 47% อาจจะมองว่าพุ่งขึ้น แต่เราจำเป็น เพราะประเทศมีภาวะที่ไม่ปกติ แต่หนี้ที่ขึ้นมาเยอะนั้นไม่ได้น่ากลัว เรายังสามารถบริหารจัดการได้ เพราะยังอยู่ภายใต้กรอบ 60% และแม้จะมีการกู้เงินตามพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แต่สุดท้ายแล้วก็ยังอยู่ที่ 57%" รองเลขาธิการสภาพัฒน์กล่าว นอกจากนี้ ยอดหนี้สาธารณะของประเทศไทยยังถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ ที่หนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ 131% ของจีดีพี, ญี่ปุ่น 252%ของจีดีพี และอังกฤษ 96% ของจีดีพี

รองเลขาธิการสภาพัฒน์ มองว่า การจะทำให้การขาดดุลงบประมาณลดน้อยลง หรือเข้าสู่ภาวะสมดุลได้นั้น สิ่งแรกที่ต้องทำ คือการปรับโครงสร้างระบบราชการที่มีขนาดใหญ่มากในปัจจุบันให้เล็กลง เนื่องจากขณะนี้สามารถใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการให้บริการประชาชนได้ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยลดการขาดดุลงบประมาณลงได้ ขณะเดียวกันก็ต้องหาแนวทางในการจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น "ถ้าเราต้องการจะลดการขาดดุลงบประมาณลง และเข้าสู่งบประมาณแบบสมดุล เราจำเป็นต้องปรับโครงสร้างระบบราชการให้เล็กลง ตอนนี้งบรายจ่ายประจำสูงถึง 80% มันสูงเกินไป วันนี้เรามีเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยในการให้บริการประชาชนได้ เมื่อปรับโครงสร้างระบบราชการให้เล็กลงได้แล้ว เราจะมี room ที่จะสามารถทำงบประมาณแบบสมดุลได้" นายดนุชากล่าว พร้อมระบุว่า แต่ในระยะ 1-2 ปีนี้ ยังมีความจำเป็นต้องให้การลงทุนของภาครัฐเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เนื่องจากเครื่องยนต์ตัวอื่นๆ คงทำงานได้ลำบากในช่วงสถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอยู่ในขณะนี้

นายดนุชา กล่าวว่า หนี้ของภาครัฐจะมาจาก 3 ส่วนสำคัญ คือ 1.การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งแม้ยอดการขาดดุลงบประมาณในปัจจุบันจะเพิ่มสูงขึ้นในทุกปี แต่ก็เป็นไปตามขนาดของเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น ทั้งนี้ มองว่ารัฐบาลจำเป็นต้องทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะงบประมาณแบบสมดุลภายใน 5-6 ปีข้างหน้านี้ เพราะการจะอยู่ในภาวะขาดดุลงบประมาณต่อไปอีกเรื่อยแบบนี้คงจะไม่ดีนัก 2.การกู้เพื่อนำมาใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3-5 แสนล้านบาท/ปี แต่หนี้จากการกู้ในส่วนนี้ก็ไม่มีความน่ากังวล เพราะเม็ดเงินงบประมาณจะลงไปสู่พื้นฐานเศรษฐกิจที่ช่วยให้ประเทศเดินหน้าต่อได้ และยังมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกลับมาด้วย 3.หนี้กึ่งการคลัง ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการทำนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือภาคส่วนต่างๆ โดยเป็นการขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในการใช้งบของธนาคารจ่ายไปก่อน แล้วรัฐบาลจะตั้งงบประมาณจ่ายคืน อย่างไรก็ดี หนี้กึ่งการคลังควรจะทำเฉพาะในช่วงที่มีความจำเป็นเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะไปเบียดฐานะการคลัง และทำให้งบที่จะใช้ลงทุนในงบประมาณลดลง

ทั้งนี้ จากปัญหาหนี้ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจด้านต่างๆ ของประเทศ ได้แก่ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปรับตัวลดลงหรือชะลอตัวลง, ปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น, ปัญหาความยากจนที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น, คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ลดลง และที่สำคัญทำให้ภาครัฐมี Policy Space จำกัดมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ