(เพิ่มเติม) นายกฯลงพื้นที่ชลบุรีพรุ่งนี้ ติดตามงานท่าเรือแหลมฉบัง-รับรถโมโนเรลขบวนแรก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 30, 2020 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (1 ต.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม และนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปตรวจราชการจังหวัดชลบุรี เพื่อไปติดตามความก้าวหน้าการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน

โดยในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีรับขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล ขบวนแรก โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้นโยบาย PPP Fast Track ของรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมระบบรางของไทย

สำหรับในช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปยังท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อเป็นประธานการประชุมแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง โดยรับฟังรายงานสรุปโครงการท่าเรือบก (Dry Port) ท่าเรือแหลมฉบัง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภายใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน พร้อมทั้งเป็นประธานการประชุมกับนักลงทุนไทยและต่างประเทศ ประกอบด้วยบริษัทชั้นนำ เช่น บมจ.ปตท. (PTT) Mitsubishi Motor (Thailand) QMB Co., Ltd เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการลงทุนใน EEC ในยุค New Normal

"แนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ซึ่งประกอบไปด้วยหลายโครงการ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (PPP) การเชื่อมโยงอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รวมทั้ง โครงการท่าเรือบก (Dry Port) ท่าเรือแหลมฉบัง ถือเป็นความก้าวหน้าในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสู่การขนส่งสินค้าด้วยระบบราง มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค (กลุ่มประเทศ CLMV) นักลงทุนไทยและต่างประเทศเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ร่วมกับภาครัฐ นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้แก่นักลงทุนไทยและต่างประเทศ มุ่งสู่การลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมด้านการแพทย์ อีกด้วย" นายอนุชา กล่าว

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีรับขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล ขบวนแรก โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ซึ่งเป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เป็นผู้กำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ ในรูปแบบ PPP Net Cost ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 พร้อมเยี่ยมชมขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในช่วงเที่ยง

ด้านน.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 ต.ค. บีโอไอร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะเชิญผู้ประกอบการรายใหญ่กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อ EEC จำนวน 16 ราย อาทิ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน เครื่องจักรกลขั้นสูง เคมีภัณฑ์ขั้นสูง โลจิสติกส์ และนิคมอุตสาหกรรม ร่วมประชุมหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสตรวจเยี่ยมพื้นที่เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากนักลงทุนในพื้นที่ ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

"การพัฒนาพื้นที่อีอีซีเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยบีโอไอมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นพิเศษสำหรับพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจการเป้าหมาย สร้างมูลค่าเพิ่มและขีดความสามารถในการแข่งขันให้เศรษฐกิจไทย" น.ส.ดวงใจ กล่าว

เมื่อเดือนมกราคม 2563 บีโอไอได้ออกแพ็คเกจใหม่เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ พื้นที่ในจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้ดึงดูดการลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยปรับสิทธิประโยชน์และเพิ่มประเภทกิจการเป้าหมายให้ครอบคลุมกว้างขึ้น ได้แก่ (1) กิจการในกลุ่มที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปี ตามสิทธิพื้นฐานเกือบทุกประเภท (กลุ่ม A1, A2, A3) ยกเว้นกิจการบางกลุ่ม เช่น กิจการที่ไม่มีที่ตั้งสถานประกอบการชัดเจน กิจการที่มีเงื่อนไขบังคับเรื่องที่ตั้งสถานประกอบการซึ่งไม่อยู่ใน 3 จังหวัดอีอีซี เป็นต้น (2) กิจการในกลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย ได้แก่ ไบโอเทค นาโนเทค วัสดุขั้นสูง และดิจิทัล และ (3) กิจการที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย เช่น กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

สำหรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลได้มีการกำหนดเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมใน 2 ทางเลือก ได้แก่ เกณฑ์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเกณฑ์ที่ตั้ง โดยสามารถเลือกดำเนินการทั้งสองเกณฑ์ควบคู่กันเพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสูงสุด หรือเลือกเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งก็ได้ โดยจะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติที่ได้รับตั้งแต่ 1-3 ปี แล้วแต่กรณี

ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มิ.ย.63) การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีมีจำนวนทั้งสิ้น 225 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินลงทุนรวม 85,480 ล้านบาท แบ่งเป็น จังหวัดชลบุรีจำนวน 120 โครงการ เงินลงทุน 39,990 ล้านบาท จังหวัดระยองจำนวน 76 โครงการ เงินลงทุน 33,320 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 29 โครงการ เงินลงทุน 12,170 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ