ผู้ว่า ธปท.แจง 5 โจทย์ใหญ่แก้เศรษฐกิจ ระบุมาตรการต้องตรงจุดไม่ปูพรม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 20, 2020 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้ว่า ธปท.แจง 5 โจทย์ใหญ่แก้เศรษฐกิจ ระบุมาตรการต้องตรงจุดไม่ปูพรม
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า 5 โจทย์ใหญ่ของ ธปท.สำหรับช่วงเวลาต่อจากนี้ ได้แก่ 1) แก้วิกฤตหนี้อย่างยั่งยืนให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจผ่านพ้นวิกฤตโควิด 19 และฟื้นตัวได้ 2) รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อให้ทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 3) รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคให้โครงสร้างเศรษฐกิจการเงินไทยสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้สถานการณ์โควิด 19 และระยะต่อไปได้ดี 4) สร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชน ให้ ธปท. เป็นหนึ่งในองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่นที่สุด และ 5) พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน ให้ ธปท.เป็นองค์กรที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ และสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า วิกฤตโควิด 19 เป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ลุกลามและส่งผลกระทบเชื่อมโยงกันทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักพร้อมกันทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่ต้องล็อกดาวน์จนส่งผลกระทบถึงผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีนี้คาดว่าจะเหลือเพียง 6.7 ล้านคน จากเดิมที่เคยสูงเกือบ 40 ล้านคน คิดเป็นรายรับที่หายไปถึงราว 10% ของ GDP การส่งออกสินค้าไตรมาส 2/63 หดตัวหนักที่สุดในรอบ 11 ปี เปรียบเสมือนอาการของผู้ป่วยหนักที่รักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู

หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หรือเมื่อผู้ป่วยออกมาพักฟื้นจากไอซียูแล้ว บริบทประเทศได้เปลี่ยนไปอย่างน้อย 3 ด้าน คือ 1. การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแตกต่างกันมาก (Uneven) ทั้งในมิติของสาขาเศรษฐกิจ มิติเชิงพื้นที่ และขนาดของธุรกิจ 2. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคาดว่าจะใช้เวลานาน (Long) ไม่น้อยกว่า 2 ปี ในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด 19 ส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างของสินค้าและตลาดส่งออกของไทยกระจุกอยู่ในกลุ่มสินค้าและตลาดที่ฟื้นตัวช้า และ 3. ยังมีความไม่แน่นอน (Uncertain) ว่าวัคซีนจะทดลองสำเร็จเมื่อไร ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นได้ระดับไหน จึงเกิดคำถามว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เมื่อบริบทเปลี่ยน ธปท. จึงประเมินว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาต้องปรับจากการใช้มาตรการที่ปูพรมการให้ความช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน มาเป็นการช่วยเหลือแบบตรงจุด (targeted) ครบวงจร (comprehensive) และยืดหยุ่น (flexible) โดยพิจารณาถึงผลข้างเคียง เพราะมีทรัพยากรจำกัดจึงต้องใช้ให้ถูกจุดเพื่อช่วยคนที่จำเป็นให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

"ตัวอย่างที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การพักชำระหนี้ จากการปูพรมช่วยช่วงล็อกดาวน์ที่ธุรกิจต้องหยุดดำเนินการ พนักงานต้องหันมาทำงานจากที่บ้าน (work from home) หรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน ทำให้ขาดสภาพคล่องของรายได้ มาเป็นการส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีเวลาปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมตามความสามารถของลูกหนี้ ซึ่งเป็นการช่วยแบบตรงจุดกว่า เช่นเดียวกับหมอที่รักษาคนไข้ตามความหนักเบาของอาการที่ป่วย" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

พร้อมระบุว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องอาศัยเวลาและการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างคุ้มค่า ธปท. เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งพอที่จะก้าวพ้นวิกฤตในครั้งนี้ เพราะไทยสามารถคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้ดี เสถียรภาพการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี เสถียรภาพต่างประเทศเข้มแข็ง หนี้สาธารณะยังอยู่ต่ำกว่าเพดานหนี้สาธารณะและยังสามารถบริหารจัดการหนี้ได้ และตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ