BAY คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ 31.15-31.50 มองนักลงทุนระมัดระวังถือครองเงินบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 26, 2020 17:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.15-31.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.26 บาท/ดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 2.0 พันล้านบาท และ 4.3 พันล้านบาทตามลำดับ พร้อมมองว่า นักลงทุนจะระมัดระวังในการถือครองเงินบาทในช่วงปัจจัยทางการเมืองในประเทศมีความไม่แน่นอนสูง

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนในตลาดเงินจะหลีกเลี่ยงที่จะเปิดสถานะการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ วันที่ 3 พ.ย. โดยชาวสหรัฐฯ กว่า 50 ล้านคนได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว นอกจากนี้ นักลงทุนจะติดตามการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งคาดว่าจะคงนโยบายไว้ตามเดิม ส่วนข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3 ของสหรัฐฯ รวมถึงการเจรจา Brexit ซึ่งยังคงไร้ข้อสรุปจะอยู่ในความสนใจของตลาดเช่นกัน

"ในภาวะเช่นนี้ เราประเมินว่าแรงขายเงินดอลลาร์อาจถูกจำกัดจนถึงวันเลือกตั้ง และนักลงทุนส่วนใหญ่น่าจะมองไปถึงแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2564 ขณะที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับลดลง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เร่งตัวขึ้นอีกครั้งในยุโรปและสหรัฐฯ"

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการออกมาตรการเพิ่มเติม โดยนโยบายการคลังควรมีบทบาทหลักในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ขณะที่เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังแข็งแกร่ง โดยแนวทางการแก้ปัญหาจะต้องตรงจุดและยืดหยุ่น

ส่วนการแข็งค่าของเงินบาท ธปท.เห็นว่าค่าเงินเคลื่อนไหวตามปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญ ขณะที่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ต้องหาวิธีสนับสนุนให้นักลงทุนไทยออกไปต่างประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ ธปท.ประเมินว่าต้องติดตามการชุมนุมอย่างใกล้ชิด โดยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น คือความเชื่อมั่น การบริโภค การลงทุน และท่องเที่ยว

"เราคาดว่านักลงทุนจะใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาเข้าถือครองสินทรัพย์สกุลเงินบาท ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองทั้งในและนอกสภาที่มีแนวโน้มตึงเครียดมากขึ้น ซึ่งอาจฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่เดิมแล้ว แม้ตัวเลขการส่งออกเดือนกันยายน บ่งชี้ถึงการหดตัวในอัตราที่น้อยลงก็ตาม"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ