BAY คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 31.00-31.50 จับตาผลเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ-ประชุมเฟด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 2, 2020 17:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00-31.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.21 บาท/ดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 7.7 พันล้านบาท และ 3.1 พันล้านบาท ตามลำดับ ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ ขณะที่เงินยูโรร่วงลงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือน หลังธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ส่งสัญญาณว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเดือนธันวาคมท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า นักลงทุนยังจับตาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พ.ย.นี้ โดยคาดว่านายโจ ไบเดนจากพรรคเดโมแครตมีโอกาสคว้าชัยชนะ แต่หากกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งกลับมาเป็นผู้นำสมัยที่ 2 คาดว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี สำหรับภาพใหญ่ นักลงทุนจะให้ความสำคัญกับความชัดเจนของผลการเลือกตั้ง หากคะแนนเสียงออกมาสูสีมากและมีความเสี่ยงที่จะเกิดการคัดค้าน จะทำให้ตลาดผันผวนสูง อนึ่ง เรามองว่าไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะยาวเนื่องจากการขาดดุลงบประมาณในระดับสูงและการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในอีกหลายปีข้างหน้า นอกจากนี้นักลงทุนจะติดตามผลการประชุมเฟดวันที่ 5 พ.ย. ซึ่งคาดว่าจะยังคงให้คำมั่นเรื่องการสนับสนุนเศรษฐกิจ ส่วนการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) มีแนวโน้มเพิ่มมาตรการ QE อีก 1 แสนล้านปอนด์ ขณะที่ข้อมูลภาคบริการและการจ้างงานสหรัฐฯที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ล้วนอยู่ในความสนใจของตลาดเช่นกัน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทั้งในและต่างประเทศ โดยการลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีบทบาทหลักในการประคองเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังคงหดตัวรุนแรงและตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง จากภาวะดังกล่าว เราประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ในการประชุมวันที่ 18 พ.ย. แต่ผลของการปิดเมืองรอบใหม่ในยุโรปกำลังเพิ่มความเสี่ยงด้านต่ำต่อโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสปัจจุบันต่อเนื่องไปถึงต้นปี 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ