บาทยังแข็งค่าต่อหลัง ธปท.ออกมาตรการ ตลาดฯ มองมีผลน้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 20, 2020 14:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการดูแลปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าเร็วเกินไป เนื่องจากตลาดเห็นว่ามาตรการดังกล่าวไม่มีประสิทธิผลเพียงพอที่จะชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้ และไม่ใช่เรื่องใหม่ ยกเว้นการกำหนดให้มีการลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ (Bond Pre-trade Registration)

โดยค่าเงินบาทก่อนประกาศมาตรการ อยู่ที่ 30.41 บาท/ดอลลาร์ และหลังมีมาตรการอยู่ที่ 30.27 บาท/ดอลลาร์

"ในภาพรวมคิดว่ามาตรการดังกล่าวมีประสิทธิผลที่จะชะลอเงินบาทให้แข็งค่าได้น้อย ข้อ 1 และข้อ 2 ไม่ใช่เรื่องใหม่ ยกเว้นข้อ 3" นักบริหารเงิน กล่าว

อนึ่ง ธปท.กำหนดมาตรการ ดังนี้

1.เปิดให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี (Foreign Currency Deposit : FCD) และโอนเงินระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยได้เสรี จะช่วยให้ผู้ส่งออกบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศและบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวมากขึ้น สามารถทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดต้นทุนการโอนเงินและชำระเงิน ตลอดจนทำให้คนไทยสามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศได้สะดวกขึ้น เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการซื้อขายทองคำเป็นสกุลเงินดอลลาร์ สรอ.

2.ปรับกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งในมิติของวงเงินและผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้กับคนไทยและสนับสนุนให้มีการกระจายความเสี่ยงการลงทุนได้มากขึ้น

  • เพิ่มวงเงินลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนโดยตรงได้เป็น 5 ล้านดอลลาร์ สรอ.ต่อปี จากเดิม 200,000 ดอลลาร์ สรอ.ต่อปี และไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ลงทุนผ่านตัวกลางในประเทศ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
  • ไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสำหรับนักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
  • เปิดให้มีการนำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาซื้อขายในไทยได้โดยไม่จำกัดวงเงิน เช่น กองทุนรวมดัชนี (ETF) ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ต่างประเทศได้

3.การลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ (Bond Pre-trade Registration) ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ไทยต้องลงทะเบียนแสดงตัวตนก่อนการซื้อขาย ทำให้ ธปท. ระบุตัวตนและติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนได้อย่างใกล้ชิด เป็นการยกระดับการติดตามข้อมูลและเอื้อให้ ธปท. สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างตรงจุดและทันการณ์ ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับการดำเนินการของหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ