(เพิ่มเติม) ธปท.ระบุเศรษฐกิจ ธ.ค.63 ทยอยฟื้นแต่ไม่ทั่วถึง-เริ่มเห็นผลกระทบโควิดรอบใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 29, 2021 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ธปท.ระบุเศรษฐกิจ ธ.ค.63 ทยอยฟื้นแต่ไม่ทั่วถึง-เริ่มเห็นผลกระทบโควิดรอบใหม่

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ในเดือนธันวาคม 2563 เศรษฐกิจไทยยังทยอยฟื้นตัวได้ แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง และเริ่มเห็นผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางภาคส่วน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนแม้ยังขยายตัว แต่การระบาดระลอกใหม่เริ่มส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเดินทางและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ด้านการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัวได้ตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ดีขึ้น เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวตามรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน

ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยตามจำนวนผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้นอกภาคเกษตรปรับลดลง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากดุลการค้าที่เกินดุลมากขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้กับเดือนก่อน

น.ส.พรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ยอดขายยานยนต์ปรับดีขึ้น ประกอบกับผลของฐานที่ต่ำ อย่างไรก็ดี หลังขจัดปัจจัยฤดูกาล เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดบริการจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือน ธ.ค.63 ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเดินทางและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ใช้มาตรการควบคุมการระบาดเข้มงวด

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้า ขยายตัว 4.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน โดยปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว ประกอบกับการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยขยายตัวดี สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวตามการผลิตน้ำตาลเป็นสำคัญ ขณะที่การผลิตหมวดยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับความต้องการสินค้ากลุ่มดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะยอดจดทะเบียนรถยนต์และการนำเข้าสินค้าทุน สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างยังหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน ขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายลงทุนยังขยายตัวสูงตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนที่การประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ล่าช้า ขณะที่การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวต่อเนื่อง สำหรับรายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ

มูลค่าการนำเข้าสินค้าทรงตัวใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัว -3.3% ในเดือนก่อนหน้า ตามการนำเข้าที่กลับมาขยายตัวในหลายหมวดสินค้าสำคัญ ทั้งหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยปรับดีขึ้น

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ แม้ในเดือนนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของภาครัฐเพิ่มเติมในบางมิติ แต่โดยรวมยังมีจำนวนไม่มาก

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยตามจำนวนผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี แม้อัตราการว่างงานและสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมปรับลดลงบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนความเปราะบางในตลาดแรงงาน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากการเกินดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้กับเดือนก่อน

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวได้ตามกำลังซื้อที่ทยอยฟื้นตัวในภาพรวม และแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ประกอบกับมีปัจจัยชั่วคราวจากวันหยุดยาวพิเศษ ทั้งนี้ แม้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมปรับดีขึ้น แต่กำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังเปราะบางและมีความแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้และพื้นที่ สำหรับการส่งออกสินค้าหดตัวน้อยลงตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า

ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน กลับมาขยายตัวสอดคล้องกับอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ดีขึ้น อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงสอดคล้องกัน ขณะเดียวกันการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวตามรายจ่ายลงทุน ส่วนหนึ่งจากผลของฐานต่ำในปีก่อนจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ล่าช้า อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานและอาหารสดที่สูงขึ้น ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลง ด้านตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังคงเปราะบางและไม่ทั่วถึง ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากที่เกินดุลในไตรมาสก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงจากการนำเข้าทองคำ

น.ส.พรเพ็ญ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทด้วยว่า ในเดือนธ.ค.63 เงินบาทแข็งค่าจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า อันเนื่องจากความมั่นใจของนักลงทุนในสินทรัพย์ของตลาดเกิดใหม่ จากปัจจัยของพัฒนาการด้านวัคซีน และการมีประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐ จึงทำให้นักลงทุนยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น และหันไปสนใจลงทุนในตลาดประเทศเกิดใหม่ รวมทั้งไทย จึงทำให้สกุลเงินต่างๆ ในภูมิภาคปรับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่หลังจากที่เกิดสถานการณ์โควิดรอบใหม่ระบาดในไทยช่วงเดือนม.ค.64 จึงทำให้เงินบาทมีความน่าสนใจน้อยลงในสายตาของนักลงทุน

อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ ธปท. ยังคงประมาณการเศรษฐไทยปี 63 ไว้ที่ -6.6% ตามการประเมินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธ.ค.63 ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลข GDP ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์ไว้ที่ -6.5% แต่อย่างไรก็ดี ตัวเลข GDP ที่แท้จริงจะต้องรอการประกาศจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ในเดือนก.พ.64

ขณะที่ GDP ในปี 64 นี้ กนง.เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตได้ 3.2% ซึ่งเป็นการประเมินไว้ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ระบาดของโควิด-19 ในรอบใหม่เมื่อช่วงปลายเดือนธ.ค.63 ดังนั้นคงต้องติดตามสถานการณ์โควิดในประเทศอย่างใกล้ชิด ว่าจะมีผลกระทบให้ต้องหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปยาวนานเพียงใด รวมถึงมาตรการของภาครัฐที่จะทยอยออกมาช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในรอบนี้ ตลอดจนพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าร่วมด้วย ซึ่งเชื่อว่า กนง.จะนำข้อมูลทั้งหมดนี้มาประเมินผลก่อนที่จะมีการประกาศตัวเลข GDP ในปีนี้ใหม่อีกครั้ง

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยยังมี 3 ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม คือ 1.การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในประเทศ ซึ่งต้องดูว่าจะส่งผลกระทบไปยังแต่ละพื้นที่ และแต่ละกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างไร รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ 2.การฟื้นตัวของตลาดแรงงาน และ 3. การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และบรรยากาศการค้าโลก

ส่วนแนวโน้มการส่งออกของไทยในปีนี้ คงต้องขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และปริมาณการค้าโลกเป็นสำคัญ แต่เชื่อว่าปัจจัย 2 ตัวนี้ จะค่อยๆ ปรับดีขึ้น ทำให้การส่งออกของไทยยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องจากในเดือนธ.ค.63 ที่การส่งออกพลิกกลับมาเป็นบวกที่ 4.6% อย่างไรก็ดี ต้องจับตาสถานการณ์โควิดทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยว่าจะกลับมาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอีกหรือไม่ แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีสินค้าบางกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์โควิด เช่น สินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ และสินค้าในกลุ่ม work from home

สำหรับแนวโน้มการท่องเที่ยวปีนี้ กนง.ได้ประเมินไว้ว่าปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 5.5 ล้านคน ดังนั้นจะต้องติดตามพัฒนาการในเรื่องโควิดอย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวมีความระมัดระวังในการเดินทางท่องเที่ยว รวมทั้งติดตามนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย อย่างไรก็ดี เชื่อว่าในเรื่องของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีความไม่แน่นอนสูง อาจไม่ได้เห็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยมากนักในปีนี้ ดังนั้น หากจะพิจารณาเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา อาจต้องพิจารณาเรื่องการกระตุ้นการใช้จ่ายต่อหัว หรือการเข้าพักในระยะเวลาที่นานขึ้น รวมทั้งการพิจารณานักท่องเที่ยวในกลุ่มพรีเมียม ซึ่งอาจจะพอชดเชยกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปได้บ้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ