(เพิ่มเติม1) กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายพร้อมเก็บกระสุนใช้ยามจำเป็นหลังมองศก.ไทยยังเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 24, 2021 17:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมวันที่ 24 มีนาคม 2564 มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่เผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำและความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า จึงยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

พร้อมปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 64 และ 65 มาที่ 3.0% และ 4.7% ตามลำดับ โดยเป็นการขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมจากการปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยว และผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/64 ชะลอตัวลงจากไตรมาส 4/63

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวเร็วตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดย กนง.ได้ปรับประมาณการส่งออกไทยในปี 64 เป็นขยายตัว 10% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 5.7% เนื่องจากการส่งออกเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/63 ที่ผ่านมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐ ส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐและประเทศคู่ค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกของไทยในทุกกลุ่มสินค้า รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเพิ่มเติม

"การบอกว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3% เป็นการฟื้นตัวแล้วคงไม่ใช่ การฟื้นตัวยังไม่เข้มแข็ง ยังจำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนทั้งจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ซึ่งประเทศอื่น ๆ ฟื้นตัวได้ดีกว่าไทย ไทยยังช้าเพราะผลจากภาคบริการและภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี ครึ่ง หรือกลับมาฟื้นตัวได้เหมือนก่อนช่วงเกิดโควิด-19 ช่วงกลางปี 65" นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. กล่าว

นายทิตนันทิ์ ระบุว่า การฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจยังมีความแตกต่างกัน โดยมีความเสี่ยงสำคัญจากประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงความต่อเนื่องของแรงสนับสนุนจากภาครัฐ

ด้านระบบการเงินมีเสถียรภาพ แต่ยังมีความเปราะบางในบางจุดจากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและธุรกิจ SMEs ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 64 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

สภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นตามฐานะการเงินที่เปราะบาง โดยเฉพาะธุรกิจฟื้นตัวช้าและครัวเรือนถูกกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยปรับสูงขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวอ่อนค่าสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินและนัยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง

นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า กนง.เห็นว่าความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง และสนับสนุนให้เร่งดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ออกมาเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้สามารถกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด ลดภาระหนี้ และสนับสนุนเศรษฐกิจช่วงฟื้นฟูในอนาคต ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ขณะที่มาตรการทางการคลังต้องพยุงเศรษฐกิจโดยไม่ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสามารถควบคุมการระบาดระลอกใหม่ได้ ควบคู่กับดำเนินการนโยบายด้านอุปทานเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง.ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รวมถึงจะติดตามความเพียงพอของมาตรการภาครัฐและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศ ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ