(เพิ่มเติม) สุพัฒนพงษ์ คงจุดยืนผลักดัน GDP ปีนี้โต 4%ท่ามกลางความท้าทาย เร่งเปิดรับนทท.-กระตุ้นใช้จ่าย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 25, 2021 13:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวในงานสัมมนา "ปี 2021 ประเทศไทยไปต่อ" ว่า เชื่อว่า ประเทศไทยยังสามารถเดินหน้าต่อได้ โดยรัฐบาลยังคงยืนยันที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้มีอัตราการเติบโต (จีดีพี) ได้ที่ระดับ 4% แม้หลายหน่วยงานจะมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจเติบโตได้เพียง 3% หรืออาจน้อยกว่านั้น เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่มองว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 2.7% เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากรายได้การท่องเที่ยวที่หดหายไปจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยรัฐบาลมองว่าเป้าหมายการเติบโตที่ 4% เป็นเป้าหมายที่ท้าทายและต้องพยายามจะไปถึงให้ได้

"รัฐบาลต้องมีจุดยืน เราต้องคงไว้ และต้องทำให้ได้ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าท้าย" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี การที่จะไปสู่เป้าหมายการเติบโตที่ 4% นั้นอาจจะต้องมีการเตรียมความพร้อมเปิดประเทศในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาให้ได้ก่อนเดือน ต.ค.นี้ เพราะหากเปิดรับนักท่องเที่ยวในช่วงปลายปีอาจไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทัน แต่การเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศก่อนเดือน ต.ค.นี้ไม่ได้หมายถึงการเปิดรับแบบทั้ง 100% ทั่วประเทศ เป็นเพียงการเปิดให้เข้ามาได้เฉพาะบางจังหวัดตามความสมัครใจของประชาสังคมนั้นๆ ด้วย เช่น จังหวัดภูเก็ตที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หากสามารถทำได้เร็วกว่าเดือนต.ค.นี้ ดังเช่นภูเก็ตโมเดลที่เตรียมจะเสนอแนวทางต่อรัฐบาลนั้น จะเป็นตัวสร้างรายได้เข้าประเทศได้เร็วขึ้น โดยหันมาเน้นนักท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพมากขึ้น และมีการใช้จ่ายต่อหัวสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถลดการพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวต่อปีในอัตราที่สูงถึง 40 ล้านคนต่อปีลงได้ "เราจะไม่มุ่งเน้นการท่องเที่ยวแบบ 40 ล้านคน เพราะยังมีโอกาส ยังมีช่องที่จะทำได้ เช่น โครงการผู้เกษียณอายุของต่างประเทศ...คนเหล่านี้ในประเทศตะวันตกมีบำนาญ มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีสวัสดิการ มีเงินประกันสุขภาพ ถ้านำเข้ามาในประเทศได้ การใช้จ่ายต่อหัวน่าจะเกินระดับแสนบาทขึ้นไป เราไม่ขอเยอะ ขอแค่ล้านคน ปีนึงก็ได้หลายล้านๆ บาท ไม่ต้องรอให้ 40 ล้านคนเข้ามา ที่ต้องเสี่ยงกับการเข้ามาทำลายทรัพยากร หรือต้องเฝ้าระวังทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์ ยังมองว่า ขณะนี้ประเทศไทยถือได้ว่าเข้าสู่ช่วงปลายของการระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว ซึ่งรัฐบาลจะต้องประคองและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศด้วย ขณะเดียวกันก็หวังให้ภาคประชาชนที่มีเงินออม นำเงินที่ออมส่วนหนึ่งออกมาใช้จ่ายอันเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ ซึ่งรัฐบาลจะมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ไปศึกษามาตรการเพื่อจูงใจให้คนกลุ่มนี้นำเงินออมส่วนเกินออกมาใช้ โดยเบื้องต้นอาจมีรูปแบบคล้าย co pay ส่วนรายละเอียดจะเป็นลักษณะใดขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ไปศึกษาก่อน

"ที่พูดแบบนี้ ไม่ใช่หมายความให้ทุกคนเลิกออม แต่ที่ผ่านมาตัวเลขการออมเติบโตเฉลี่ยปีละ 3% แต่ปีที่ผ่านมาการออมเพิ่มขึ้นถึง 11% จึงอยากให้นำเงินออมส่วนเกินนี้ออกมาจับจ่ายใช้สอย มาช่วยชาติ ได้สินค้าและบริการที่ราคาย่อมเยาว์ โดยรัฐมีส่วนร่วมด้วย" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

ในเรื่องของการกู้เงินนั้น ยอมรับว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมารัฐบาลมีการกู้เงินจำนวนมาก ซึ่งเป็นความจำเป็นที่ต้องกู้มาใช้เพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ กว่า 162 โครงการ ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการวางรากฐานของประเทศสำหรับอนาคต ซึ่งโครงการส่วนใหญ่เน้นการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งการก่อสร้างถนน ทางด่วน มอเตอร์เวย์ การลงทุนโครงการขนส่งระบบราง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ