รฟท.ทดลองเดินรถเสมือนจริงสายสีแดง เคาะค่าโดยสาร 12-42 บาท

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 26, 2021 18:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รฟท.ทดลองเดินรถเสมือนจริงสายสีแดง เคาะค่าโดยสาร 12-42 บาท

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดทดลองเดินรถเสมือนจริง รถไฟชานเมืองสายสีแดง จากสถานีกลางบางซื่อ - สถานีรังสิต และสายสีแดงอ่อน จากสถานีกลางบางซื่อ-ตลิ่งชัน พร้อมทั้งเยี่ยมชมจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารจากขบวนรถทางไกลสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ กับขบวนรถไฟชานเมืองสายสีแดง ณ สถานีรังสิต และจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารจากขบวนรถทางไกลสายใต้กับขบวนรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่สถานีตลิ่งชัน

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การทดลองระบบภาพรวมมีความเรียบร้อยดี โดยจากบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 กว่านาที ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.26 กม.ใช้เวลาประมาณ 15 นาที รถใช้ความเร็วประมาณ 80-90 กม./ชม. จอดสถานีละประมาณ 1 นาทีตามมาตรฐาน โดยจะมีการปรับปรุงป้ายบอกทาง และป้ายบอกตารางการเดินรถและข้อมูลข่าวสารอีกเล็กน้อย เพื่อให้ประชาชนไม่สับสน

และตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จะมอบให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริหารการเดินรถ โดยจะเป็นการทดลองเดินรถเสมือนจริงไปจนถึงเดือนก.ค. 64 ซึ่งจะเปิดให้กลุ่มประชาชน หรือสถาบันการศึกษาเป็นหมู่คณะร่วมทดลองได้ โดยต้องติดต่อรฟท.เพื่อกำหนดวันเข้าร่วมก่อน จากนั้นจะเปิดเดินรถอย่างไม่เป็นทางการ (Soft opening) ในเดือนก.ค.-พ.ย. 64 โดยกำหนดตารางเวลาเดินรถเบื้องต้น ขบวนละ 10 นาที (6 ขบวน/ชม.) โดยให้บริการฟรี และเปิดเดินรถอย่างเป็นทางการเชิงพาณิชย์ปลายเดือนพ.ย. 64 ซึ่งจะเริ่มเก็บค่าโดยสารอัตราเริ่มต้น 12-42 บาท ซึ่งลดลงจากเดิมที่รฟท.เสนออัตรา 14-42 บาท เป็นผลมาจากที่มอบให้รฟท. หารือร่วมกับ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารอัตราค่าโดยสารตามหลักสากล ซึ่งอัตราแรกเข้าซึ่งใช้ตามสูตรที่เอดีบีกำหนดไว้ เมื่อปี 2544 เริ่มต้น 10 บาท ปัจจุบันดัชนีผู้บริโภค (CPI) ปี 2564 พบว่าอัตราแรกเข้าปรับเป็น 11.88 บาท ซึ่งจะปัดขึ้นเป็น 12 บาท และคิดค่าโดยสารตามระยะทาง เฉลี่ย 1.01 บาท/กม.

"อัตราค่าโดยสาร 12-42 บาท จะใช้ในปีแรกไปก่อน โดยจะเก็บข้อมูลสถิติ ตัวเลขต่างๆ ทุกเดือน จนครบ 1 ปี เพื่อดูว่า ราคาที่กำหนดไปต่อไหวหรือไม่ เพราะหลักการรัฐไม่ต้องการให้เกิด PSO ขณะที่ค่าโดยสาร ต้องเป็นธรรมและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน ดังนั้น ต้องดูรายได้จากเชิงพาณิชย์ด้วยว่า จะนำมาชดเชยเรื่องค่าโดยสารได้หรือไม่ ขณะที่การก่อสร้างส่วนต่อขยายที่จะให้เอกชนเข้ามาร่วมทุน PPP คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 ปี"นายศักดิ์สยาม กล่าว

ส่วนกรณีค่าก่อสร้างรถไฟสายสีแดงที่เพิ่มขึ้นนั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ขณะนี้สรุปค่าภาษีที่เพิ่มประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะเร่งสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาในเดือนเม.ย.นี้ ส่วนค่าก่อสร้างเพิ่มเติม หรือ Variation Order (VO) อีกกว่า 6,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบอย่างละเอียดและรอบคอบ ซึ่งการแก้ปัญหาจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

นายศักดิ์สยาม กล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งมีพื้นที่รวม 298,200 ตร.ม. เป็นพื้นที่สำหรับบริการผู้โดยสาร 50% (129,400 ตร.ม.) พื้นที่สำหรับพัฒนาเชิงพาณิชย์ กรณีใช้พื้นที่สูงสุด 51,465 ตร.ม. หรือ 17.3% ของพื้นที่สถานีทั้งหมด หรือสัดส่วน 39.8% ของพื้นที่บริการผู้โดยสาร ซึ่งจะเปิดคัดเลือกเอกชนเข้ามาดำเนินการได้ปีนี้ เพื่อให้บริการได้ในพ.ย. 64 ที่มีการเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์

ส่วนพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อจำนวน 2,325 ไร่ จำนวน 9 แปลง ขณะนี้รฟท.อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกวดราคา ใน 5 แปลงแรก คือ แปลง A E G D B พัฒนาเป็นศูนย์ราชการ ที่อยู่อาศัย ช้อปปิ้งมอลล์ต่างๆ โดยแปลง A E G จะเปิดคัดเลือกเอกชนได้ในปี 2570 ส่วนแปลง C F H I ต้องรอย้ายสถานีขนส่ง บขส. โรงซ่อมจักรบางซื่อ โรงซ่อมรถโดยสาร จึงจะส่งมอบพื้นที่และเปิดประมูลต่อไป

นอกจากนี้ รฟท.จะมีการพิจารณาร่วมทุนกับเอกชนก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่สถานีกลางบางซื่อ เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา

รมว.คมนาคม กล่าวถึงแผนบริหารการเดินรถเข้าสู่สถานีหัวลำโพงหลังเปิดสถานีกลางบางซื่อเดือนพ.ย. 64 จากปัจจุบันมีขบวนรถเข้าสถานีหัวลำโพง 118 ขบวน/วัน เป็นรถเชิงพาณิชย์ 66 ขบวน รถธรรมดา 52 ขบวน จะปรับเหลือ 22 ขบวน โดยบริหารการเดินรถเข้าหัวลำโพงเฉพาะที่จำเป็นจริงช่วงเช้าและเย็น จะทำให้ลดปัญหาจุดตัดกับนถนนและต้องปิดเครื่องกั้น จาก 826 ครั้ง/วันเหรือ 154 ครั้ง/วัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ