พาณิชย์ คาดทิศทางส่งออกอาหารปีนี้โต 7.1% ดันมูลค่าแตะ 1.05 ล้านลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 27, 2021 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าทิศทางการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2564 จะมีมูลค่า 1.05 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.1% จากในปี 63 มีมูลค่า 31,284 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 5.1% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจหลังจากหลายประเทศเริ่มมีการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชน และราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไก่ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและสับปะรด รวมไปถึงการกำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าที่นำเข้าสินค้าอาหารจากไทย

ขณะที่ภาพรวมการส่งออกอาหารไทยในเดือนม.ค. - ก.พ. 2564 มีมูลค่า 164,146 ล้านบาท โดย 5 อันดับสินค้าเกษตรอาหารส่งออก ได้แก่ 1.มันสำปะหลัง 2.ข้าว 3.ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง 4.ไก่แปรรูป 5.ไก่สดเย็น แช่แข็ง และ 5 อันดับสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรส่งออกสำคัญ ได้แก่ 1.อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 2.ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ 3.อาหารสัตว์เลี้ยง 4.เครื่องดื่ม 5.ผลไม้กระป๋องและแปรรูป

ทั้งนี้ จากผลกระทบของสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยที่ยังคงระบาดอย่างหนักในระลอกใหม่ ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้บูรณาการกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง มุ่งยกระดับกระบวนการผลิต โดยออกมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในกระบวนการผลิตอาหารเพื่อการส่งออกอย่างเข้มงวด เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ รวมถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน ดังนี้

1) ลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนมากับวัตถุดิบและภาชนะบรรจุ ผู้ประกอบการ และ Supplier ที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งผัก ผลไม้ ต้องควบคุมการเข้าออกสถานที่ เช่น การเซ็นชื่อ การคัดกรอง พร้อมจัดเก็บข้อมูลบุคลากรที่ปฏิบัติงานและที่มากับรถขนส่ง การทำความสะอาดรถขนส่งวัตถุดิบ การสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาเพื่อป้องกันการปนเปื้อนขณะปฏิบัติงาน

2) การควบคุมกระบวนการผลิตที่เข้มงวด ผู้ประกอบการต้องมีการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย ตั้งแต่การรับวัตถุดิบผัก-ผลไม้ การแปรรูป การบรรจุ ตามมาตรฐาน GMP และ HACCP รวมทั้งสุขอนามัยส่วนบุคคลของพนักงานที่ปฏิบัติงาน ต้องสวมผ้ากันเปื้อน ถุงมือ และหน้ากาก การล้างมือในขณะปฏิบัติงาน รวมถึงมาตรการในการขนส่ง การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในตู้คอนเทนเนอร์

3) การควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในโรงงาน โดย สถานที่และอาคารผลิต ให้มีการควบคุมทางเข้าและออก จัดสถานที่อาคารผลิต ห้องประชุม โรงอาหาร ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องสุขาให้เหมาะสม เพื่อลดความแออัด รวมถึงระบบระบายอากาศและเครื่องกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงภายในอาคารผลิต ระบบสุขาภิบาล จัดให้มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่เหมาะสมในการป้องกันระหว่างปฏิบัติงาน เช่น ที่ล้างมือ สบู่เหลว น้ำยาฆ่าเชื้อโรค กระดาษเช็ดมือชนิดที่ใช้แล้วทิ้ง ถังขยะที่มีฝาปิดและไม่ใช้มือสัมผัส การแสดงวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง การทำความสะอาด เคร่งครัดในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในอาคารผลิต เครื่องจักร พื้น ผนัง รวมทั้งพื้นที่ผิวจุดเสี่ยงที่มีการสัมผัสร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์โดยสาร เก้าอี้ โต๊ะกินข้าว เป็นต้น

นอกจากนี้ ในขณะทำงานต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา สวมใส่ถุงมือ รองเท้า ล้างมือ เว้นระยะห่าง และป้องกันการปนเปื้อนระหว่างปฏิบัติงาน การอบรม ให้พนักงานมีความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ