นักวิชาการมองมาตรการ30%ยังจำเป็นในการตั้งรับทุนไหลเข้าที่แนวโน้มสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 3, 2007 15:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          "พรายพล"มองมาตรการ 30% ยังจำเป็นดูแลเงินบาท เหตุแนวโน้มเงินทุนต่างประเทศยังไหลเข้ามาอีกมาก แต่เตือนแบงก์ชาติเร่งวิเคราะห์มาตรการหลังใช้มานานถึง 9 เดือนเพื่อประเมินผล ขณะที่"เศรษฐพุฒิ"ระบุเป็นแค่ยาสามัญประจำบ้าน ต้องเร่งดูแลร่างกายให้แข็งแกร่ง แนะรัฐอาศัยจังหวะซับไพร์มป่วนตลาดสหรัฐ เร่งออกบอนด์ดึงเงินทุนระยะยาวจากต่างประเทศมาใช้ลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานเสริมความเข้มแข็งระบบเศรษฐกิจ  
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทยในหัวข้อ"Big Elephants in Small Ponds: Risk Absorbtion, Risk Diversification and Management of Capital Flows" ว่า มาตราการสำรอง 30% ยังจำเป็น เพราะยังไม่สามารถไว้ใจกระแสเงินทุนต่างประเทศที่จะไหลเข้ามาในระยะต่อไปได้ ขณะที่เศรษฐกิจของไทยมีขนาดเล็ก หากมีเงินทุนจำนวนมากไหลเข้ามาจะทำให้เกิดความผันผวนได้ง่าย
แต่ควรจะพิจารณาว่าการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันมีความเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะการใช้อัตราเงินเฟ้อเป็นตัวกำหนดนโยบายอัตราดอกเบี้ย ทำให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาช้าเกินไปหรือไม่ ถึงทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ต้องนำมาตรการสำรอง 30% มาใช้
และยังควรวิเคราะห์ผลของการใช้มาตรการสำรอง 30% หลังจากใช้มานานถึง 9 เดือนว่ามีผลต่อการดูแลค่าเงินบาทและมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งจะต้องพิสูจน์ผลสำเร็จกันต่อไป
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มวิจัยเศรษฐกิจ บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า นโยบาย 30% เป็นเหมือนยาสามัญประจำบ้านที่ช่วยบรรเทาอาการ แต่ทำให้เราลืมไป ไม่รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงจริง ๆ
ขณะนี้ภาครัฐควรเร่งลงทุนในโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด โดยขณะนี้เป็นจังหวะเหมาะในการออกพันธบัตรระดมทุนเพื่อนำมาลงทุนในโครงการด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพราะจากปัญหาซับไพร์มทำให้นักลงทุนต่างประเทศมองหาทางเลือกลงทุนด้านอื่นเพื่อลดความเสี่ยงลง นอกจากนั้นยังช่วยรองรับความผันผวนของค่าเงินด้วย
อย่างไรก็ตาม นโยบายของทางการส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอน และกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้ประเภทของเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยมีสัดส่วนของเงินลงทุนโดยตรง(FDI) เป็นหลัก กลับกลายเป็นเงินทุนระยะสั้นที่เข้ามาเก็งกำไรซึ่งทำให้เกิดความผันผวน
ในด้านการสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดทุนภายในประเทศนั้น ควรจะเร่งรัดการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งได้ร่างกฎหมายเตรียมไว้มานานกว่า 10 ปีแล้วแต่ยังไม่ได้นำออกมาใช้
นายยรรยง ไทยเจริญ ผู้บริหารฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยสูงขึ้น ทำให้ประเทศในเอเชียถือครองสินทรัพย์ต่างประเทศค่อนข้างสูง รวมทั้งไทยที่มีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศในระดับสูงถึงกว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินไหลออกไปลงทุนต่างประเทศมีน้อย จึงเกิดความไม่สมดุลกัน ทำให้มีความผันผวนในตลาดเงินบาท
มาตรการ 30% ที่ทั้งชิลีและไทยนำมาใช้ดูแลค่าเงินในประเทศ เป็นมาตรการด้านการเงินที่เหมาะสมกับภาวะที่เกิดขึ้นเฉพาะช่วง ที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้มาตรการได้ง่ายกว่าการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ย แต่ผลสำเร็จในการลดการแข็งค่าของเงินบาทอาจไม่ได้ชัดเจนมากนัก เพราะจะต้องขึ้นกับภาวะตลาดในช่วงนั้น ๆ ด้วย แต่หากใช้มาตรการดังกล่าวไปในระยะเวลานาน ๆ ก็อาจทำให้เกิดการบิดเบือนค่าเงิน และการจัดการทรัพยากร
การเปิดเสรีทางการเงินควรอยู่บนพื้นฐานระยะเวลาที่เหมาะสม เป็นขั้นเป็นตอน เพราะหากเปิดมากเกินไปจะทำให้เงินทุนต่างประเทศทะลักเข้ามาในประเทศ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินผันผวน และแม้ประโยชน์จากการเปิดเสรีจะมีมาก แต่หากไม่ยกระดับเศรษฐกิจในประเทศขึ้นมารองรับให้เหมาะสม ก็อาจจะเกิดผลร้ายมากกว่าผลดี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ