อุตฯอาหาร 7 เดือนปีนี้พลิกฟื้นจากหดตัวปีก่อน มองช่วงที่เหลือยังโตแกร่งสวนโควิด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2021 11:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เผยสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ว่าได้พลิกกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากหดตัวลงในปีก่อน โดยการผลิตที่วัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เพิ่มขึ้น 2.9% ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการที่ภาคธุรกิจใช้มาตรการ Bubble and Seal เพื่อควบคุมความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดในโรงงาน ทำให้โรงงานส่วนใหญ่สามารถเดินสายการผลิตได้ตามปกติ

ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบภาคเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นที่ตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ส่งผลทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรวัตถุดิบมีเพียงพอกับความต้องการของโรงงานแปรรูป โดยเฉพาะอ้อย มันสำปะหลัง ผักและผลไม้ต่างๆ จำพวกสับปะรด และข้าวโพดหวาน เป็นต้น

นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชนชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ภายใต้โครงการต่างๆ อาทิ โครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2 นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และทำให้เกิดการขยายตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอาหาร

ด้านการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกพบว่า มีมูลค่า 622,700 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่ผ่อนคลายมาตรการ Lockdown หลังจากสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน ธุรกิจบริการร้านอาหารต่างๆ มีการฟื้นตัว โดยการส่งออกไปจีนขยายตัวเพิ่มขึ้น 40.0% เนื่องจากมีความต้องการสินค้าจำนวนมากเพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวมาตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปก็มีสัญญาณการฟื้นตัวเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าส่งออกในกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็ง จำพวกกุ้ง ปลา ปลาหมึก สับปะรดกระป๋อง ที่มีการขยายตัวตามช่องทางจำหน่ายในธุรกิจบริการร้านอาหารที่กำลังฟื้นตัว ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับ Pent up demand หรือความต้องการที่ถูกอั้นไว้ในช่วงที่ออกนอกบ้านไม่ได้และร้านอาหารถูกปิดเป็นเวลาหลายเดือน

ด้านนางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยใน 5 เดือนหลังยังจะโตแกร่งสวนทางโควิด-19 โดยคาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้น 5.0% การส่งออกเพิ่มขึ้น 11.0% มูลค่า 427,300 ล้านบาท ทั้งปีประเมินว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้น 4.5% การส่งออกจะมีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% จากปี 63

สำหรับปัจจัยหนุนอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วง 5 เดือนหลัง มองว่ามาจากความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่มีแนวโน้มขยายตัวหลังการกลับมาเปิดเมือง (Reopening) ทำให้สินค้าที่มีช่องทางจำหน่ายในธุรกิจบริการร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม จัดเลี้ยง (HORECA) มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ากุ้งและอาหารทะเลสดแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มะพร้าวและกะทิสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส และอาหารพร้อมรับประทาน ประกอบกับสต็อกสินค้าอาหารของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เริ่มลดลง ทำให้มีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งแรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยที่ส่วนใหญ่เน้นใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศ

ด้านปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อระบบการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารของไทยในครึ่งปีหลัง อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้าสู่สถานประกอบการ จะกระทบต่อกำลังการผลิตและส่งมอบสินค้า การกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้หลายประเทศอาจต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการควบคุมการระบาด จะส่งผลทำให้ปริมาณความต้องการสินค้าชะลอตัวลง ค่าระวางเรือยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่ง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า Commodity เช่น ข้าว น้ำตาล ธัญพืชต่างๆ ที่มีราคาต่อหน่วยต่ำ รวมถึงทางการจีนอาจชะลอการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากการที่เร่งนำเข้ามาตั้งแต่ปีก่อน ซึ่งอาจส่งผลทำให้การส่งออกอาหารของไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

นางอนงค์ กล่าวว่า จะเร่งขอความร่วมมือโรงงานโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าประเมินตนเอง Online ในแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid (TSC) และการสุ่มตรวจประเมินโรงงาน (Onsite) เพื่อแนะนำการใช้มาตรการต่างๆ ในเชิงรุก ซึ่งการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถฝ่าฟันวิกฤตและรักษาสถานภาพโรงงานทั้งในด้านการผลิตและส่งออก เพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารสามารถทำรายได้จากการส่งออกและเป็นภาคส่วนสำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ