นักวิชาการ แนะไทยปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงจากศึกเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 30, 2021 15:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความท้าทายและโอกาสของไทยจากศึกเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนว่า การแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะส่งผลให้เกิดภาพที่เปลี่ยนแปลงจากโลกเอกภพ (Globalization) สู่โลกทวิภพ (Decoupling) คือ มีห่วงโซ่จีนเชื่อมโลก โดยที่พยายามจะตัดสหรัฐฯ ออกไป กับห่วงโซ่สหรัฐฯ เชื่อมโลก ที่พยายามจะตัดจีนออกไป

นอกจากนี้ การแข่งขันของทั้งสองประเทศมหาอำนาจ จะส่งผลให้สปีดของการเปลี่ยนแปลงศึก 3D รวดเร็วขึ้น ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปีจะเห็นโลกที่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ Decoupling หรือโลกทวิภพ, Digitalization หรือการขับเคลื่อนในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม และ Decarbonization หรือเศรษฐกิจของพลังงานสะอาด

ปัจจุบันทั้ง 2 ประเทศได้มีการปรับกระบวนทัศน์ โดยจีนได้มีการปรับเปลี่ยนในภาคนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ขณะที่สหรัฐฯ ได้ปรับเปลี่ยนทั้งในวงการอุตสาหกรรม และเทคโนโลยี ที่ให้ความสำคัญเรื่องวงจรการผลิต และการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในลักษณะของ Ecosystem อยู่แล้ว รวมทั้งมีการการใช้ Platform Economy เป็นหลัก รวมถึงนโยบายสำคัญของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ที่เน้นย้ำเรื่องพลังงานสะอาดอยู่เสมอ

ดังนั้นประเทศไทยอาจสูญพันธุ์ได้หากไม่มีการปรับตัว ซึ่งทางรอดของประเทศไทย คือ ต้องหาห่วงโซ่อาหารใหม่ รวมทั้งต้องเชื่อม และใช้โลกทั้งสองแกนให้ได้ ด้วยยุทธศาสตร์เชิงรุก 3M ได้แก่

1. Middle Power ประเทศไทยเป็นประเทศมหาอำนาจระดับกลาง ซึ่งมีความสามารถในการเจรจาระหว่างประเทศมหาอำนาจทั้งสองประเทศได้ โดยควรมีการรักษาสมดุลเชิงรุก เป็นต้น

2. Mainland Southeast Asia สร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ทั้งด้านแพลตฟอร์ม และพลังงานสะอาด

3. Mitigating Risks การกระจายความเสี่ยงในโลกที่มีความผันผวน ทั้งในเรื่องของห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่การผลิต ห่วงโซ่การค้า ห่วงโซ่เศรษฐกิจ ดังนั้นจึงต้องคิดถึงการสร้างห่วงโซ่ใหม่ หากเกิดความขัดแย้งกับจีน และสหรัฐฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ