รายงาน กนง.ระบุศก.ไทยผ่านจุดต่ำสุดใน Q3 แนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 14, 2021 10:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 29 ก.ย.64 ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง พร้อมเห็นว่ามาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ

กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 64 และปี 65 จะขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการรประชุมครั้งก่อน แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 0.7% ส่วนในปี 65 ขยายตัวได้ 3.9% โดยแม้ในไตรมาส 3/64 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาด และการส่งออกที่ชะลอลงกว่าคาด แต่พัฒนาการด้านวัคซีนที่ดีขึ้นชัดเจน และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่น และการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปี 64

สำหรับปี 65 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ ตามความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และการส่งออกจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหา global supply disruption

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงในปี 64 มาอยู่ใกล้ขอบล่างของกรอบเป้าหมาย จากราคาอาหารสดที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ และมาตรการลดค่าไฟฟ้าของภาครัฐเพิ่มเติมเพื่อช่วยค่าครองชีพ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะสูงขึ้นในระยะสั้น จากผลกระทบชั่วคราวของพายุเฮอริเคนไอดาในสหรัฐฯ เป็นสำคัญ ส่วนปี 65 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ตามราคาอาหารสดที่จะเพิ่มขึ้นจากการคลี่คลายของปัญหาอุปทานสินค้าเกษตรส่วนเกินในประเทศ หลังจากที่สามารถกลับมาส่งออกได้มากขึ้น

กนง.มองว่าเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง โดยต้องติดตาม (1) แนวโน้มการระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัส รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยว (2) การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นภาคเอกชนหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุน (3) ความต่อเนื่องของมาตรการของภาครัฐ เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในระยะต่อไป และ (4) ปัญหา supply disruption และต้นทุนค่าขนส่งสินค้าทางเรือ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกสินค้า

พร้อมประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 3/64 และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่เลื่อนมาจากช่วงก่อนหน้า (pent-up demand) ในช่วงที่เหลือของปี 2564 จากพัฒนาการด้านวัคซีนที่ปรับดีขึ้น และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด ซึ่งส่งผลให้ประมาณการเศรษฐกิจใกล้เคียงกับการประเมินครั้งก่อน แม้การส่งออกชะลอลง

"ต้องติดตามพัฒนาการด้านวัคซีน ทั้งการนำเข้าและกระจายวัคซีนตามแผนของรัฐบาล รวมถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมทาง เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนที่อาจฟื้นตัวล่าช้ากว่าคาด หากการระบาดกลับมารุนแรงขึ้น ประกอบกับภาคส่งออกยังเผชิญปัญหา global supply disruption รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ตามนโยบายการเปิดประเทศของไทย และต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน" รายงาน กนง.ระบุ

กนง.เห็นว่าโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ การดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยควรมุ่งเน้นการรักษาสมดุลระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อควบคุมการระบาด และความสามารถในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

พร้อมเห็นว่ามาตรการการคลัง เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทั้งการเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ โดยในระยะต่อไป ควรเน้นการสร้างรายได้ และเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การระบาดคลี่คลาย อย่างไรก็ดี นโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่ยังมีปัญหาในการกระจายสภาพคล่องที่มีอยู่มากไปสู่ธุรกิจ SMEs และครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ

คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบาย มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง ยังมีความสำคัญ มาตรการการคลังควรเร่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเน้นการสร้างรายได้และเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟู และยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ นโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง

สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ ควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูระยะที่ 2 มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้าง และสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมาย เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

"คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ รวมทั้งความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงิน และสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น" รายงาน กนง.ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ