รมว.คมนาคม สั่ง รฟท.เร่งศึกษาแผนพัฒนาสถานีหัวลำโพง-แนวรถไฟถึงบางซื่อ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 10, 2021 18:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมติดตามนโยบาย เนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และแนวทางการพัฒนาตลอดแนวเส้นทางรถไฟ บางซื่อ ? หัวลำโพง ว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางของประเทศไทย ส่งผลให้สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ที่ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลดบทบาทลง แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ตั้งอยู่ใจกลางเมืองและเข้าถึงได้ง่ายด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าสายสีแดง (ในอนาคต) ดังนั้น จึงควรนำพื้นที่บริเวณดังกล่าวมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

โดยมีแนวทางการพัฒนาพื้นที่ คือ 1. บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ได้วางแนวทางการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์คมนาคมกลางเมือง รวมถึงจัดสรรพื้นที่บางส่วนสำหรับเชิงพาณิชย์ให้ทันสมัย พร้อมทั้งมีพื้นที่กิจกรรมสำหรับทุกเพศทุกวัย โดยยังคงความเป็นอัตลักษณ์เดิม สอดคล้องกับความสมัยใหม่ และรูปแบบการดำเนินชีวิต

2. พื้นที่ริมทางรถไฟ ช่วงสถานีกลางบางซื่อ ? สถานีหัวลำโพงนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวนแบบโครงการสายสีแดง บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก (Missing Link) โดยเฉพาะบริเวณสถานีราชวิถี (อยู่บริเวณโรงพยาบาลรามาธิบดี) เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเข้าถึงการบริการของโรงพยาบาล

นอกจากนี้ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ยังอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ด้วย ได้แก่ 1. โครงการสถานีธนบุรี ซึ่งแบ่งการพัฒนาพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ศูนย์วิจัยเพื่อนวัตกรรมทางการแพทย์ขั้นสูง พื้นที่เชิงพาณิชย์ และพื้นที่อยู่อาศัย 2. โครงการพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางพระรามเก้า โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะของสัญญาและทำสรุปพื้นที่ที่สามารถจัดสรรได้เพื่อดำเนินการต่อไป

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดังกล่าวดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) นั้น ให้ รฟท.เร่งพิจารณาแนวทางการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง โดยเร็ว เพื่อให้มีความชัดเจนในการเริ่มพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานี หัวลำโพง

สำหรับการศึกษาการพัฒนาพื้นที่นั้น ทางบริษัท เอสอาร์ทีเอ อาจจะพิจารณาการออกแบบที่แตกต่างไปจากเดิม โดยมีการประกวดแบบการพัฒนาพื้นที่หัวลำโพง โดยให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Land Developer) เข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อให้เกิดมีแนวความคิดที่หลากหลายมากขึ้น ขณะที่แนวทางการลงทุนของโครงการ รฟท.และ และบริษัท เอสอาร์ทีเอ ควรพิจารณาว่า จะมีแนวทางการลงทุนเช่นใด หากพิจารณาแล้วว่า การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อ รฟท.มากที่สุด เห็นควรให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องคู่ขนานกันไป เพื่อไม่ให้การดำเนินการโครงการล่าช้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ