รมว.พาณิชย์ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนเดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตโควิด

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday November 20, 2021 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "Connect ธุรกิจไทย พาณิชย์ยุคใหม่ เชื่อมไทยเชื่อมโลก" ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 39 ว่า การทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ในปีหน้ายังคงเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มข้น โดย 2 ปีที่ผ่านมาสามารถแก้ไขปัญหาในรูปการลงมือปฏิบัติจริง มุ่งผลสำเร็จจริง โดยเอกชนทุกภาคส่วนนำปัญหาที่แก้ไขเองไม่ได้มาให้กระทรวงพาณิชย์และภาครัฐช่วย ซึ่งตนเองได้ทยอยแก้ไขไปทีละข้อ หากไม่จบก็ขึ้นทะเบียนการบ้านไว้ ทำให้ 2 ปีที่ผ่านมาแก้ไขปัญหาได้จำนวนมาก ตอนนี้คิดว่าเรามาถึงจุดที่โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แต่ยังนอนใจไม่ได้ สิ่งที่ต้องจับมือกันคิดร่วมกันต้องจับมือใกล้ชิดทั้งภาครัฐเอกชน

เราต้องนำเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตโควิดไปให้ได้ ไม่ใช่รอให้โควิดเป็นศูนย์แล้วเริ่มนับหนึ่ง เชื่อว่าพวกเราทำได้ เพราะประเทศไทยช่วงที่ผ่านมาไม่ฝากชะตาไว้กับเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว การท่องเที่ยวอย่างเดียวหรือการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม หรือการส่งออกเท่านั้น เมื่อไม่มีการท่องเที่ยวจากต่างประเทศแต่เศรษฐกิจก็ขับเคลื่อนได้เพราะยังมีการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรม และการส่งออกเป็นฐาน สิ่งเหล่านี้ทำให้ตนมั่นใจว่าเราทำได้และสามารถทำต่อไปได้ แต่มีบางพื้นที่ที่ฝากเศรษฐกิจกับบางสาขามากจนขาดความสมดุล เช่น ท่องเที่ยวอย่างเดียวพอไม่มีการท่องเที่ยว เช่น พัทยา ภูเก็ต ต้องกลับมาคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผสมผสานต่อไป

ขณะนี้สถานการณ์การท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศเริ่มมีสัญญาณที่ดี คาดว่าจากนี้ไปและปีหน้าได้เตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1 ล้านคนมีความเป็นไปได้ ต้องตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจนเพิ่มเติมขึ้น แต่ต้องไม่ทิ้งไทยเที่ยวไทยเพราะจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องเดินหน้าไปสู่การท่องเที่ยวชุมชน ทำให้เกิดการกระจายรายได้ ลงลึกถึงเศรษฐกิจฐานราก

สำหรับกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญและขับเคลื่อน ได้แก่ 1.ประกันรายได้สินค้าเกษตร ช่วยเกษตรกรอย่างน้อย 8 ล้านครัวเรือน ให้เป็นฐานวัตถุดิบ เชื่อมการผลิต แปรรูปและการส่งออก เพื่อบรรลุเป้าหมายเชื่อมไทยเชื่อมโลก และไม่ได้ทำให้เกษตรกรอ่อนแอ แต่ทำให้เกษตรกรมีหลักประกันในเรื่องของการผลิตพืชผลทางการเกษตร ที่สำคัญประกันรายได้ไม่เหมือนนโยบายอื่นที่ล้มเหลวมีการทุจริตคอรัปชั่น เพราะประกันรายได้ไม่ใช่การแทรกแซงตลาด ราคาในตลาดเหมือนเดิม แต่มีเงินส่วนต่างเติมให้เกษตรกรให้ยังชีพอยู่ได้ก้อนหนึ่งเท่านั้น ไม่มีการบิดเบือนกลไก ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกที่ไม่ดูแลเกษตรกร

2.เร่งรัดการส่งออก ซึ่งช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 15.5% จากตั้งไว้เพียง 4% นำเงินเข้าประเทศรวมกัน 6.2 ล้านล้านบาท และเดือนตุลาคมคาดว่าขยายตัวไม่น้อยกว่า 15% ซึ่งทั้งปีคาดว่าเราจะได้เห็นตัวเลขบวก 2 หลักแน่นอน ที่สำคัญเรามีตลาดใหม่เกิดขึ้น เช่น อินเดียตะวันออกกลาง รัสเซีย ลาตินอเมริกาหรือกลุ่มประเทศอื่นๆ เพราะการทำงานมีความเข้มแข็งโดยเฉพาะทีมเซลล์แมนประเทศ และเดินหน้าตลาดใหม่ช่วยกันต่อไปนอกจากรักษาตลาดเดิม ที่สำคัญตลาดเก่าที่สูญเสียไปต้องเอากลับคืน เช่น ตลาดข้าวอิรัก ในช่วงจำนำข้าวส่งข้าวไม่ได้คุณภาพ ทำให้อิรักไม่รับซื้อข้าวเรา ตอนนี้อาศัยความสามารถของภาคเอกชนบุกตลาดเข้าไปช่วยขายข้าว

3.การค้าชายแดน ซึ่งช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 38% ทำรายได้เข้าประเทศ 7.78 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญช่วยคนตัวเล็ก ภาค SMEs และ Micro SMEs ของเราสามารถค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านทำรายได้เข้าประเทศได้ เรามีด่านทั่วประเทศ 97 ด่าน เปิดแล้ว 46 ด่าน 2-3 วันที่ผ่านมา เปิดอีก 2 ด่าน คือด่านตากใบกับบูเก๊ะตา จ.นราธิวาส จะช่วยให้การส่งออกไปมาเลเซียดีขึ้นต่อไปในอนาคต เหลือด่านท่าเส้น จังหวัดตราด บ้านหนองเอี่ยน จังหวัดสระแก้ว ด่านปากแซงที่จังหวัดอุบลฯ เจรจาถึงขั้นขอเปิดด่านแล้ว ซึ่งตนช่วยจัดการบริหารงบทำทางลาดไปต่อจากถนน ลงท่าเรือขนของข้ามแม่น้ำโขง

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพราะเชื่อว่าสงครามการค้ายังคงยืดเยื้อต่อไป เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาแม้สีจิ้นผิงกับไบเดนจะเจรจาเรื่องราคาน้ำมัน แต่เราต้องติดตามต่อไปเพราะสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อโลกต่อเรา เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการนำการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจการค้า ทำให้เกิดการแบ่งฝ่าย สุดท้ายนำไปสู่การหาพวกทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ การค้า ประเทศไทยต้องกำหนดท่าทีให้ดีว่าจะยืนอยู่อย่างไร ยืนอยู่อย่างสมดุลระหว่างมหาอำนาจทางการเมืองเศรษฐกิจการค้าโลกอย่างไร และที่เห็นตรงกัน คือ ต้องไม่ยืนอย่างโดดเดี่ยวต้องจับมือใกล้ชิดกับพันธมิตรของเรา อย่างน้อยที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และต้องกำหนดท่าทีที่มีความชัดเจนร่วมกัน และวันที่ 22 พ.ย.จะมีการประชุมอาเซียน-จีน ครบรอบความสัมพันธ์ 30 ปี ซึ่งการประชุมนี้จะสะท้อนอะไรหลายอย่าง ซึ่งมีสัญญาณบวกทางอาเซียนดูเหมือนจะได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะพยายามผลักดันให้จีนเข้าไปมีบทบาทเชิงยุทธศาสตร์สร้างสรรค์ มุ่งเน้นความส่งเสริมการยับยั้งชั่งใจและการแก้ไขปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้โดยสันติ และฝั่งจีนคาดว่าจะส่งเสริมกับการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคโดยการใช้ FTA และอันที่สองคือคาดว่าจีนจะฟื้นฟูการเดินทาง กับกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นลำดับแรก โอกาสได้นักท่องเที่ยวจากจีนมาอาเซียน และสุดท้ายคาดว่าจีนจะนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันกับกลุ่มประเทศอาเซียนต่อไป

ประเด็นสุดท้าย เร่งติดตามกติกา RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค คาดว่าต้นปีหน้าจะบังคับใช้ เพราะให้สัตยาบันครบตามเงื่อนไขแล้ว และการประชุม WTO ที่จะมาถึงในช่วงต้นเดือนธันวาคม โดยประเด็นอีคอมเมิร์ซเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ตนเคยเสนอเรื่องอีคอมเมิร์ซในการประชุม APEC ไปแล้วครั้งหนึ่ง ว่าข้อตกลงกติกาเรื่องอีคอมเมิร์ซจะต้องเน้น 1.ความโปร่งใส 2.ต้องเป็นธรรมทั้งประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา และ 3.ต้องคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ผู้บริโภคเป็นเหยื่อของอีคอมเมิร์ซ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ