ครม.อนุมัติกรอบการหารือไทยเป็นเจ้าภาพประชุม กมธ.แม่น้ำโขงครั้งที่ 26

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 23, 2021 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบการหารือในการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 28 และการประชุมระหว่างคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 26 ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในวันที่ 25 พ.ย.ผ่านรูปแบบผสมผสานระหว่างระบบประชุมทางไกลกับผู้เข้าร่วมประชุมบางส่วน ประกอบด้วย 4 ประเทศสมาชิก ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และผู้เข้าร่วมประชุมจาก 1.กลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา คือ ประเทศหรือองค์กรที่สนับสนุนเงินทุนในการดำเนินกกิจกรรมของคณะกรรมการธิการแม้น้ำโขง เช่น ออสเตรเลีย เบลเยียม ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เป็นต้น

2. องค์การระหว่างประเทศและผู้แทนหน่วยงานที่ดำเนินความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในฐานะผู้สังเกตุการณ์ เช่น จีน เมียนมา สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) สำนักงานน้ำระหว่างประเทศ (OIEau) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาติ (UNEP) ธนาคารโลก เป็นต้น

สำหรับกรอบการหารือในการประชุมครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญที่จะขับเคลื่อน คือ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (The Sustainable Hydropower Development Strategy (HSDS 2021) for the Lower Mekong Basin) มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มน้ำโขงร่วมกัน เพื่อลดผลกระทบข้ามพรมแดน รวมทั้งรักษาสมดุลความมั่นคงในด้านน้ำ พลังงาน อาหาร สิ่งแวดล้อม และการดำรงชีวิตของผู้คนที่อยู่อาศัยตามริมฝั่งแม่น้ำโขง ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การบูรณาการอย่างยั่งยืนในการบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน การเตรียมการ การออกแบบ การก่อสร้าง และการบริหารจัดการ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดำเนินการ และการบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลักษณะการบริหารจัดการแบบขั้นบันได (เขื่อนพลังงานน้ำแบบขั้นได คือ การสร้างเขื่อนตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป เรียงต่อกันภายในลำน้ำเดียวกัน) โดยจะดำเนินการ เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูล และศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับการบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแบบขั้นบันไดกับจีน และเมียนมา เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลระดับภูมิภาค และส่งเสริมความร่วมมือเกี่ยวกับแผนด้านน้ำและพลังงาน เช่น บริหารจัดการการใช้ทรัพยากรน้ำบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเท่าเทียมกันระหว่างประเทศสมาชิก

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก สตรี และชนกลุ่มน้อย เช่น สร้างอาชีพให้กับสมาชิดในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การศึกษาวิจัยร่วม เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้และพัฒนาเครื่องมือเพื่อการบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืน โดยจัดให้มีการศึกษาวิจัยในเรื่องต่างๆ ที่จะช่วยพัฒนาการบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เช่น การประเมินผล การบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ