(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI พ.ย.64 ขยายตัว 2.71% คาดปีนี้ 0.8-1.2% ปีหน้า 0.7-2.4%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 3, 2021 11:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI พ.ย.64 ขยายตัว 2.71% คาดปีนี้ 0.8-1.2% ปีหน้า 0.7-2.4%

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน พ.ย.64 เพิ่มขึ้น 2.71% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.28% จากเดือนต.ค.64 ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ประกอบกับฐานราคาปีที่ผ่านมาอยู่ระดับต่ำ รวมถึงราคาผักสด ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากอุทกภัยจากช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เนื้อสุกร อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหาร ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุน สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ ข้าวสาร ไก่สด ผลไม้สด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (น้ำดื่มบริสุทธิ์ กาแฟผงสำเร็จรูป) และเสื้อผ้า ส่วนสินค้าอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและกลไกของตลาดในปัจจุบัน

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ย.ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน เป็นผลจากสาเหตุที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว, สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย, การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ รวมทั้งมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้นตามกำลังซื้อของประชาชนที่ปรับตัวดีขึ้น

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 11 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. - พ.ย.) อยู่ที่ 1.15%

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือน พ.ย.64 เพิ่มขึ้น 0.29% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.09% จากเดือน ต.ค.64 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 11 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 0.23%

สำหรับเงินเฟ้อในเดือนธ.ค.64 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนพ.ย. สาเหตุสำคัญมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง และมีทิศทางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและค่าขนส่ง ส่วนราคาสินค้าในกลุ่มอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการ ปริมาณผลผลิต ต้นทุนและวัตถุดิบ

ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลากหลายรูปแบบที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และระบบเศรษฐกิจในภาพรวม รวมถึงการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการท่องเที่ยวซึ่งมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการ และกระทบต่อเงินเฟ้อของไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ (Omicron) ที่สร้างความกังวลไปทั่วโลก ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปในปี 64 จะอยู่ในกรอบ 0.8 - 1.2% (ค่ากลางอยู่ที่ 1.0%) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 1/64 อยู่ที่ -0.53% ไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 2.36% ไตรมาส 3/64 อยู่ที่ 0.70% และคาดว่าไตรมาส 4 นี้ จะอยู่ที่ 2.44%

ส่วนในปี 65 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 0.7 - 2.4% (ค่ากลางอยู่ที่ 1.5%) โดยมีสมมติฐานหลักที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจไทยปี 65 ขยายตัวได้ในช่วง 3.5 - 4.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ระดับ 63-73 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 31.50 - 33.50 บาท/ดอลลาร์

นายรณรงค์ กล่าวว่า ทิศทางเงินเฟ้อปี 65 คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้า และการผลิต รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชน นอกจากนี้ อุปสงค์ด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว จะส่งผลต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อค่อนข้างมาก

สำหรับด้านอุปทานที่จะส่งผลบวกต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาอาหารสดที่น่าจะยังขยายตัวต่อเนื่อง ตามความต้องการและสภาพอากาศที่กระทบต่อผลผลิต และสินค้าในหมวดอื่น ๆ น่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากต้นทุนการผลิต การขนส่ง และเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่วนอุปทานด้านน้ำมันดิบ คาดว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่จะทยอยปรับกำลังการผลิตเพื่อให้สมดุลกับความต้องการ

อย่างไรก็กี ปัจจัยและแนวโน้มเหล่านี้ ยังมีความเสี่ยงและมีโอกาสผันผวน รวมถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะได้รับแรงกดดันจากโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาสินค้าเกษตรที่มีความผันผวน รวมถึงมาตรการของภาครัฐ ซึ่งจะกดดันให้เงินเฟ้อของไทยขยายตัวได้อย่างจำกัด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ จะติดตามเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

"หลังจากนี้ ต้องดูสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เราจะติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะโควิดจะมีผลต่อเศรษฐกิจในปีหน้า ซึ่งก็จะส่งผลมาถึงเงินเฟ้อในปีหน้าด้วย" ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ