(เพิ่มเติม) นายกฯ สั่งเร่งหามาตรการดูแลลดภาระค่าใช้จ่าย-หนี้สิน-สร้างรายได้ช่วยเหลือปชช.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 3, 2022 13:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เรียกนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน, นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี, นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี, นายประสัณห์ เชื้อพานิช คณะที่ปรึกษานายกฯ, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร คณะที่ปรึกษานายกฯ , นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยคาดว่าจะเป็นประเด็นหารือแนวทางรับมือกับสถานการณ์ด้านพลังงาน หลังจากที่เกิดการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นทะลุ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใย และให้ความสำคัญกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์ความตึงเครียดในยุโรป ซึ่งส่งผลให้พลังงานราคาสูงขึ้น จึงสั่งการคณะที่ปรึกษาให้เดินหน้าแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน และต้องการให้แบ่งเบาภาระประชาชนทุกคนเห็นผลโดยเร็วที่สุด โดยให้ดำเนินการตาม 3 แนวทางหลัก

1. หาแนวทางลดภาระค่าใช้จ่าย ดูแลประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ร่วมพิจารณามาตรการที่เหมาะสม แบ่งเบาภาระของประชาชน อาทิ การช่วยเหลือเพื่อบรรเทาราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า เป็นต้น

2. การบรรเทาภาระหนี้สิน เป็นประเด็นที่รัฐบาลดูแลมาโดยตลอด รัฐบาลได้กำหนดให้ในปี 65 นี้ เป็น "ปีแห่งการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน" และได้กำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนไว้ครอบคลุมทุกมิติ

อย่างไรก็ดี ในการประชุมฯ นายกรัฐมนตรีต้องการให้มีหน่วยงานขับเคลื่อนเพื่อให้ดูแลประชาชนทุกคน เพื่อบรรเทาภาระหนี้ให้กับประชาชน ไม่ให้มีคนต้องถูก ยึดบ้าน ยึดรถ

3. การลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเพิ่มรายได้ให้ประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและเสมอภาค

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ให้มีเม็ดเงินกระจายลงไปในพื้นที่ ทั้งโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โครงสร้างพื้นฐานสร้างความเชื่อมโยง กระจายทรัพยากรสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น รถไฟเส้นทางขนส่งสินค้าส่งออก ซึ่งทำได้ในปริมาณมาก ประหยัด รวดเร็ว และเป็นโอกาสเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ