คมนาคม คาดเสนอครม.เม.ย.นี้พิจารณาแผนโอนสนามบินกระบี่-บุรีรัมย์-อุดรให้ AOT

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 21, 2022 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะประธานการประชุมติดตามการดำเนินการในการให้บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. บริหารจัดการท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) คาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ ทอท. เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการ ท่าอากาศยานอุดรธานี บุรีรัมย์ และกระบี่ แทน ทย. ภายในเดือนเมษายน 2565 นี้

พร้อมกันนี้ ได้กำหนดแผนการดำเนินงาน (Action Plan) การดำเนินการให้ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทย. ซึ่งคาดว่ากระทรวงคมนาคมจะสามารถนำเสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบแนวทางการให้ ทอท. เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง แทน ทย. ได้ในเดือนเมษายน 2565 และ ทอท. จะสามารถเริ่มให้บริการท่าอากาศยานกระบี่ และท่าอากาศยานอุดรธานีอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 2565 และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ในเดือนกันยายน2565

โดยในการมอบความรับผิดชอบในการบริหารจัดการท่าอากาศยานจำนวน 3 แห่ง ให้ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการแทน ทย. ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะเสนอเรื่องต่อ ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ให้ทอท. เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี บุรีรัมย์ และกระบี่ แทน ทย. พร้อมทั้งแนวทางการดำเนินการฯ ด้านอื่นๆ ได้แก่ ด้านอสังหาริมทรัพย์ (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ด้านสังหาริมทรัพย์ (ครุภัณฑ์) ด้านบุคลากร ด้านการขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ และด้านงบประมาณ ก่อนหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามแนวทางฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวต่อไป

การให้ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการท่าอากาศยาน ทั้ง 3 แห่งแทน ทย. จะเป็นการเพิ่มศักยภาพและใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานในภูมิภาคของ ทย. ที่ปัจจุบัน มีบทบาทเป็น Local Airport ให้ยกระดับเป็น Regional Airport และ Secondary Hub Airport ในอนาคต และจะเปิดโอกาสให้สายการบินมีทางเลือกด้านการตลาดเส้นทางการบินระหว่างประเทศ รวมทั้งสามารถย้ายฐานการบินโดยกระจายไปยังภูมิภาคของประเทศเพื่อลดการต่อเครื่อง/ถ่ายลำ รวมทั้งเป็นการอำนวย ความสะดวกและเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้โดยสารตลอดจนช่วยลดปัญหาการบริการจราจรทางอากาศและ ขีดความสามารถของห้วงอากาศในเขตแถลงข่าวการบินกรุงเทพ บรรเทาความแออัดของท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ในระดับภูมิภาค และระดับสากลต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ