ฟรุ้ทบอร์ด แนะผู้ส่งออกผลไม้เพิ่มขนส่งทางเรือ-ขยายตลาดในปท. รับมือจีนปิดด่านหลังโควิดระบาด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 8, 2022 11:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดกรผลไม้ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่มีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้

1. แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ปี 2565 เป็นแนวทางบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 ตามมติคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 65 ทั้งนี้ จังหวัดได้จัดวางแผนการบริหารจัดการผลไม้ แบบเบ็ดเสร็จได้ด้วยตัวเอง ในเชิงคุณภาพสอดคล้องตามยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ.2565 - 2570 และในเชิงปริมาณ โดยการจัดการความสมดุลเป็นไปตามหลักอุปสงค์-อุปทาน

  • แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2565 เพื่อบริหารจัดการผลผลิต ทุเรียน 729,110 ตัน มังคุด 221,840 ตัน เงาะ 216,420 ตันลองกอง 18,994 ตัน รวมทั้งสิ้น 1,186,364 ตัน
  • เสนอให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และพาณิชย์จังหวัด เป็นฝ่ายเลขานุการ เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่จังหวัด ประจำปี 2565 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
  • กรณีที่การบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่มีปัญหา มอบหมายให้จังหวัดประสานกับฝ่ายเลขานุการคณะทำงาน จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ และ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

2. แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลิ้นจี่) ปี 2565 เพื่อให้จังหวัดใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการผลไม้ในฤดูการผลิตปี 2565

  • แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลิ้นจี่) ปี 2565 จำนวน 43,511 ตัน ผ่านกลไกคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.)
  • เสนอให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และพาณิชย์จังหวัด เป็นฝ่ายเลขานุการ เป็นกลไกหลัก ในการขับเคลื่อนบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่จังหวัด ประจำปี 2565 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
  • กรณีที่การบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่มีปัญหา มอบหมายให้จังหวัดประสานกับฝ่ายเลขานุการคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ และ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในจีนระลอกใหม่ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกผลไม้ของไทยที่ประมาทไม่ได้ จึงขอให้ผู้ส่งออกเพิ่มการขนส่งทางเรือให้มากที่สุดเป็น 55% และการขนส่งทางรถไฟสายจีน-ลาวในระบบผสม "ราง-รถ" เป็นทางเลือกเพิ่มเติม เพื่อลดความเสี่ยงของการขนส่งทางรถที่มีความไม่แน่นอนของด่านทางรถ ที่อาจปิดได้ทุกเมื่อหากเกิดการระบาดของโควิดในพื้นที่ใกล้เคียง แม้ตอนนี้ด่านทุกด่านยกเว้นด่านตงชิงยังเปิดเป็นปกติ

นอกจากนี้ ต้องเร่งรณรงค์การบริโภคผลไม้ภายในประเทศให้มากขึ้นจาก 30% เป็น 40% เพื่อช่วยสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ทั้งในส่วนของภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคเหนือและทุกภาคทั่วประเทศ และขอให้ทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามมาตรการเชิงรุกล่วงหน้าตามนโยบายของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กำหนด 18 มาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 และแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ ปี 2565 กรณีเหตุการณ์ไม่ปกติ จำนวน 5 มาตรการ 21 โครงการ

ทั้งนี้ ประกอบไปด้วย มาตรการป้องกันเพื่อเตรียมรองรับเหตุการณ์ไม่ปกติ มาตรการช่วยเหลือในการกระจายสินค้า ควบคุมคุณภาพ และกระตุ้นการบริโภคผลไม้ มาตรการช่วยเหลือสนับสนุนการส่งออกผลไม้ไทย มาตรการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มผลไม้ และมาตรการช่วยเหลือเยียวยา และฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่ปกติ

อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวจะรองรับผลไม้ 450,000 ตัน ในส่วนอื่นๆ จะเป็นไปตามกลไกตลาดโดยเกษตรกรผลิตผลไม้ที่ได้คุณภาพ ล้งรับซื้อตามมาตรฐานและราคาที่เป็นธรรม ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกดำเนินการเตรียมการส่งออกต่อไป

"สถานการณ์การค้าผลไม้กับจีนในปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกผลไม้ไปจีน 1.6 แสนล้านบาท แต่จีนส่งผลไม้มาไทย 4 หมื่นล้านบาท นับว่าไทยได้เปรียบการค้าจีนด้านผลไม้ 3-4 เท่าตัว โดยผลไม้ไทยครองตลาดจีนมีมาร์เก็ตแชร์กว่า 40% อันดับ 2 คือ ชิลี 14% เวียดนาม 6% อยู่อันดับ 3 ซึ่งสะท้อนขีดความสามารถของไทย นอกจากนั้น ปีที่ผ่านมาส่งออกผลไม้ไปจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เฉพาะทุเรียนส่งออกทะลุ 1 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรก แม้จะเผชิญปัญหามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในจีน ซึ่งกระทบการขนส่งและการส่งออกเป็นระยะๆ ปีนี้จึงประมาทไม่ได้แม้จะได้เตรียมมาตรการและงบประมาณสนับสนุนล่วงหน้าก็ตาม แต่การระบาดระลอกใหม่ของโควิดในจีนยากจะคาดคะเนว่าจะยุติลงเมื่อใด" นายอลงกรณ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ