สรรพากรหารือ OECD วางมาตรการป้องกันหลบเลี่ยงภาษีระหว่างปท. คาดได้ข้อสรุปปี 66

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 5, 2022 17:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สรรพากรหารือ OECD วางมาตรการป้องกันหลบเลี่ยงภาษีระหว่างปท. คาดได้ข้อสรุปปี 66

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากร อยู่ระหว่างหารือกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ร่วมกับ 139 ประเทศทั่วโลก เพื่อเดินหน้ามาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ ประกอบด้วย 2 เสาหลัก คือ เสาหลักที่ 1 (Pillar1) มาตรการกำหนดให้บริษัทข้ามชาติที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มต่างชาติ (e-Service) ต้องเสียภาษีเงินได้ โดยปันส่วนกำไรมาให้กับประเทศผู้ใช้บริการ ถึงแม้จะไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศที่ให้บริการ

โดยในหลักการคือ บริษัทข้ามชาติที่มีรายได้เกิน 2 หมื่นล้านยูโรต่อปี มีกำไรในส่วนที่เกิน 10% จะต้องปันกำไรมาเป็นรายได้ในอัตรา 25% ให้กับประเทศผู้ใช้บริการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาข้อตกลงว่าสัดส่วนในการแบ่งรายได้ให้แต่ละประเทศจะต้องเป็นอย่างไร เช่น กรณีแพลตฟอร์มชมภาพยนตร์ อาจพิจารณาจากจำนวนสมาชิกผู้ใช้บริการ หรือกรณีเฟซบุ๊ก อาจพิจารณาจากจำนวนผู้เข้าชม เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2566 และเริ่มจัดเก็บได้ภายในปี 2567

นายเอกนิติ กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีดังกล่าว เป็นส่วนเพิ่มเติมจากที่กรมฯ ได้ออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มต่างชาติก่อนหน้านี้ ที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการในไทย โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบ 2565 มีมูลค่าบริการจากต่างชาติสูงถึง 60,000 ล้านบาท ซึ่งกรมจัดเก็บรายได้ใหม่เข้าประเทศได้ถึงกว่า 4,200 ล้านบาท ในช่วงเวลา 6 เดือน ก็จะใช้ฐานข้อมูลดังกล่าวไปพิจารณาจัดเก็บภาษีเงินได้ต่อไป

"การหารือร่วมกับ OECD เป็นแนวทางที่ทั้งโลกเห็นร่วมกันว่า รูปแบบการจัดเก็บภาษีต้องเปลี่ยนไปตามผู้ให้บริการ ถือเป็นครั้งแรกของโลก ที่จะมีการจัดเก็บภาษีเงินได้จากบริษัทต่างชาติที่มีรายได้จากการให้บริการในไทย โดยยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะจัดเก็บรายได้เพิ่มเท่าใด เพราะอยู่ระหว่างการศึกษาส่วนแบ่ง แต่มั่นใจว่าจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่จำนวนมากจากบริษัทข้ามชาติที่หลบเลี่ยงภาษี" นายเอกนิติ กล่าว

ขณะเดียวกัน กรมสรรพากรจะเร่งเดินหน้าเสาหลักที่ 2 (Pillar2) มาตรการกำหนดให้บริษัทข้ามชาติที่หลบเลี่ยงภาษีโดยถ่ายโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ จะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจนเสียอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำที่ 15% หรือการกำหนดให้ธุรกิจมีการเสียภาษีขั้นต่ำ เช่น กรณีบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเหลือ 5% หรือบริษัทไทยที่ไปลงทุน โอนกำไรไปต่างประเทศเสียภาษีในอัตรา 5% กรมสรรพากรก็มีอำนาจที่จะไปจัดเก็บภาษีจนเต็มอัตราที่ 15% ได้ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 2566 เช่นกัน

ส่วนภาษีการขายหุ้นนั้น นายเอกนิติ กล่าวว่า กรมสรรพากรได้ศึกษาไว้หมดแล้ว แต่ต้องรอดูจังหวะและเวลาที่เหมาะสม โดยมีหลายแนวทางที่ศึกษา เช่น ยกเลิกการยกเว้นการจัดภาษีที่มีอยู่เดิม หรือพิจารณาว่ามีรายย่อยเท่าไร ซึ่งทุกอย่างอยู่ในรายละเอียดการศึกษาทั้งหมด

"ต้องดูจังหวะและเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่ในระยะเวลาอันใกล้นี้" อธิบดีกรมสรรพากร ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ