ม.หอการค้าฯ ชี้มีโอกาสที่ กนง. จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ทั้ง 3 รอบที่เหลือของปี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 16, 2022 13:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.หอการค้าฯ ชี้มีโอกาสที่ กนง. จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ทั้ง 3 รอบที่เหลือของปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากพิจารณาจากสัญญาณของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และดูจากทิศทางการปรับดอกเบี้ยโลก จะเห็นว่าเป็นเพราะอัตราเงินเฟ้อแนวโน้มสูงขึ้น และธนาคารกลางต่างๆ จะใช้นโยบายดอกเบี้ยในการสกัดกั้นเงินเฟ้อ ซึ่งในส่วนของไทยเอง คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมทั้ง 3 ครั้งที่เหลือของปี รอบละ 0.25% แต่คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียกประชุม กนง.นัดพิเศษ ก่อนที่จะมีการประชุมตามรอบปกติในเดือน ส.ค. ก.ย. และ พ.ย. เพราะไม่เช่นนั้น จะส่งผลกระทบทางด้านจิตวิทยาได้ อีกทั้งไม่ได้มีเหตุที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง

"คาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ คงจะขึ้นในเดือนส.ค. และอาจจะขึ้นทุกครั้ง รวม 3 ครั้ง ส่วนการประชุมนอกรอบ หรือประชุม กนง.นัดพิเศษ ยังไม่มีความจำเป็น เพราะการประชุมนอกรอบ จะต้องมีความผันผวนรุนแรง หรือมีเหตุการณ์คาดไม่ถึงที่ทำให้ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย สถานการณ์ตอนนี้ ถ้ามีประชุมนอกรอบ และขึ้นดอกเบี้ยทันทีในเดือนก.ค. อาจจะเป็นจิตวิทยาเชิงลบ แต่ถ้ามีเงินไหลออกรุนแรง ตลาดสูญเสียความเชื่อมั่นว่าไทยสะกัดเงินเฟ้อช้า และไปส่งผลในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดตราสารหนี้ของไทย ก็อาจต้องมีประชุมฉุกเฉินเพื่อขึ้นดอกเบี้ยก่อน แต่ขณะนี้ ยังไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นเร็วกว่ากำหนด" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมประเมินว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทุก 0.25% จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ -0.1%

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ย เป็นการสกัดกั้น 2 อย่างในทางจิตวิทยา คือ 1. ชี้ว่าธนาคารกลางต้องการป้องกันปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้นักลงทุนมั่นใจว่าเราจะไม่ปล่อยให้เงินเฟ้อขึ้นสูงโดยไม่จำเป็น และแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที 2. การขึ้นดอกเบี้ย ช่วยทำให้เงินทุนไม่ไหลออกมากเกินไป ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทอยู่ในกรอบที่เหมาะสม ไม่อ่อนค่าเกินพื้นฐานที่สำคัญเนื่องจากการขาดความมั่นใจเรื่องดอกเบี้ย ดังนั้น เชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย จะเป็นการดูแล 2 ระบบ คือ การดูแลเงินเฟ้อทางจิตวิทยา และดูแลค่าเงิน

พร้อมระบุว่า การที่รัฐบาลยังเลือกประคองราคาน้ำมันดีเซลต่อไปจนถึงสิ้นเดือนมิ.ย. ก็ทำให้เห็นว่ารัฐบาลยังเลือกจะดูแลราคาพลังงาน และราคาพลังงานยังไม่เป็นแรงกดดันสูงเหมือนเช่นในประเทศอื่นที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นไปตามกลไลตลาดโลกอย่างแท้จริง ดังนั้น จึงทำให้ราคาน้ำมันในประเทศค่อนข้างต่ำกว่าความเป็นจริงมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ