(เพิ่มเติม) นายกฯ เรียกประชุมด่วนทีมเศรษฐกิจบ่ายนี้คาดถกมาตรการบรรเทาผลกระทบน้ำมันแพง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 16, 2022 14:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เรียกทีมเศรษฐกิจเข้าหารือที่ทำเนียบรัฐบาลในเวลา 14.30 น.ของวันนี้

ทั้งนี้ แหล่งข่าว คาดว่า จะมีการหารือถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ราคาสินค้า และค่าครองชีพที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน มอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอหลักการให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในสัปดาห์หน้า เพื่อให้มาตรการมีผลบังคับใช้ในเดือนก.ค.นี้

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน เป็นหน้าที่ของสภาพัฒน์ ในการรวบรวมเพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลัง ได้เสนอมาตรการให้สภาพัฒน์ไปพิจารณาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง

สำหรับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค.นั้น กระทรวงคลังจะร่วมกับฝ่ายนโยบายพิจารณาว่าต้องขยายเวลาต่ออีก เพื่อช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซลที่แพงขึ้นต่อเนื่องหรือไม่

ปลัดกระทรวงการคลัง ยังกล่าวถึงความกังวลของหลายฝ่ายเกี่ยวกับแนวโน้มหนี้สาธารณะของประเทศไทย ว่า ปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทย อยู่ที่ประมาณ 60.81% คิดเป็นวงเงิน 10.01 ล้านล้านบาท ถือว่ายังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง โดยยืนยันว่าหากยังมีการบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศไทยจะอยู่ไม่เกินกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างแน่นอน

"หนี้สาธารณะของประเทศไทยไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง เพราะหากดูตามนิยามของคำว่าหนี้สาธารณะแล้ว จะพบว่ามีหนี้สาธารณะส่วนหนึ่ง ราว 1.2 ล้านล้านบาท ที่ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณในการชำระหนี้ เช่น หนี้ของบมจ. ปตท. (PTT), หนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหนี้ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เป็นต้น ที่ใช้เงินของตัวเองในการจ่ายชำระหนี้ ไม่เกี่ยวกับงบประมาณ ดังนั้นหากตัดตัวเลขหนี้ในส่วนนี้ออกไป สัดส่วนหนี้สาธารณะที่แท้จริงจะลดลงอย่างมาก และที่ผ่านมาสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ก็มีการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดีอยู่ มีการวางแผนปรับโครงสร้างหนี้รองรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปัจจุบัน" นายกฤษฎา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ