Power of The Act: การอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะรถ EV โดยอาศัยโครงข่ายไฟฟ้ายืดหยุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 20, 2022 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 หรือเรียกว่า Revised PDP2018 ระบุถึงความยืดหยุ่นของระบบโครงข่ายไฟฟ้าเอาไว้ในฐานะเป็นปัจจัยเพื่อรองรับรูปแบบ "การผลิตและการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป" (หน้า 25 และ 29 ของ Revised PDP2018) นอกจากนี้ ยังได้ระบุอีกว่า ระบบปฏิบัติการไฟฟ้าควรถูกพัฒนาให้มีความยืดหยุ่นและการบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถรองรับพลังงานหมุนเวียนที่มีคุณลักษณะของการผลิตที่ไม่แน่นอน (หน้า 34 ของ Revised PDP2018)

นโยบายพลังงานดังกล่าวชวนให้เราต้องคิดว่า "อะไรคือการผลิตและใช้ไฟฟ้าที่จะเปลี่ยนไป" และคำถามที่สอง "อะไรคือการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน" บทความนี้จะตอบคำถามทั้งสองข้อโดยอาศัยตัวอย่างธุรกิจพลังงานในอนาคตคือ การอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าโดยอาศัยโครงข่ายไฟฟ้าที่ยืดหยุ่น

*เมื่อมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นส่งผลให้ภาคการขนส่ง "ใช้ไฟฟ้า" มากขึ้น

การใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นย่อมหมายความว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าจะมีปริมาณสูงขึ้น (โดยนับเป็นความต้องการไฟฟ้าในภาคขนส่ง) ซึ่งเมื่อเดือน มี.ค.65 Stanford?s Precourt Institute for Energy (โดย Claudia I.Moses) ได้แสดงบทวิเคราะห์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่ออัดประจุไฟฟ้าในยานยนต์ไฟฟ้าอาจสร้างภาระกับระบบโครงข่ายพลังงานได้ ดังนั้น ภาคพลังงานไฟฟ้า (Energy Sector) (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้า) จึงควรพิจารณาถึง "รูปแบบการอัดประจุไฟฟ้า" เพื่อคำนวณปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าอย่างแม่นยำ

คำถามย่อมเกิดขึ้นได้ว่า แล้วการใช้ไฟฟ้าเพื่ออัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า "มีความพิเศษ" อย่างไร อะไรคือความท้าทายโดยเฉพาะที่เกิดขึ้นจากรูปแบบการใช้ไฟฟ้าแบบนี้ ? ในประเด็นนี้ European Commission (โดย Annika Klettke และ Albert Moser) เผยแพร่รายงาน "Effect of electromobility on the Power System and the Integration of RES" เมื่อเดือน มิ.ย.61 อธิบายว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อยานยนต์ไฟฟ้านั้นไม่ได้เพียงทำให้ความต้องการไฟฟ้าโดยรวม (Overall Demand) เพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดต่อชั่วโมง (Hourly Load Curve) เพิ่มขึ้นอีกด้วย

เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ก็ย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องมีการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม และระบบโครงข่ายไฟฟ้าก็ย่อมมีภาระในการส่งไฟฟ้า (เช่น ให้กับสถานีอัดประจุไฟฟ้า) มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตั้งข้อสังเกตว่า การผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ณ เวลานี้ อาจไม่ใช่การผลิตไฟฟ้าจาก Fossil Fuels ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาจากปรากฏการณ์การเปลี่ยนของภูมิอากาศ แต่อาจเป็นการผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน

อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีลักษณะที่ไม่แน่นอน ความไม่แน่นอนดังกล่าวควรถูกจัดการอย่างไรให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าสามารถตอบสนองต่อความต้องการสูงสุดต่อชั่วโมงของภาคการขนส่งที่มีการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ?

*สร้างความยืดหยุ่นให้กับระบบโครงข่ายไฟฟ้า

วิธีการหนึ่งที่สามารถใช้เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายของระบบไฟฟ้าดังกล่าว ได้แก่ ทำให้การอัดประจุไฟฟ้าสร้างความยืดหยุ่น (Flexibility) ให้กับระบบโครงข่ายไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เคยอธิบายความยืดหยุ่นในบริบทของระบบโครงข่ายไฟฟ้าเอาไว้ว่า ความยืดหยุ่นของระบบโครงข่ายไฟฟ้านั้นมีหลากหลายมิติ เช่น การประเมินศักยภาพการผลิตไฟฟ้าของไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนเพื่อบริหาร จัดการระบบไฟฟ้า ทั้งการผลิตและระบบส่ง (R/E Forecast) การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อตอบสนองต่ออัตราคาไฟฟ้าหรือเงินชดเชยที่โน้มน้าวให้มีการใช้ไฟฟ้าลดลง ณ เวลาใด ๆ (Demand Response (D/R) Center) และการนำเทคโนโลยีโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Grid มา ช่วยบริหารจัดการควบคุมการผลิต ส่ง และจ่ายพลังงานไฟฟ้า (Smart Grid/Micro Grid)

ในการสร้างความยืดหยุ่นให้กับระบบไฟฟ้า ผู้ประกอบกิจการระบบโครงข่ายจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับระบบโครงข่ายที่เป็นปัจจุบัน (Real-Time Information) และมีข้อมูลเกี่ยวกับข้อจำกัดของระบบโครงข่าย (เช่น ความไม่แน่นอนหรือผันผวนของการผลิตพลังงาน การบริโภคไฟฟ้า ปริมาณไฟฟ้าที่ถูกใช้เพื่อการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน หรือไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนมีปริมาณไม่เพียงพอที่จะให้บริการแก่สถานีอัดประจุไฟฟ้า) และสามารถสื่อสารความยืดหยุ่นดังกล่าวแก่ผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้

*ระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ยืดหยุ่นที่ถูกใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีการอัดประจุแบบอัจฉริยะ

ระบบการสื่อสารและเชื่อมโยงทางข้อมูลของระบบโครงข่ายไฟฟ้าและการอัดประจุไฟฟ้า ณ เวลาปัจจุบันสามารถเรียกได้ว่าเป็น "Smart Charging" ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าปัจจัยที่ช่วยให้การอัดประจุไฟฟ้าแก่ยานยนต์นั้นมีความปลอดภัยและสะดวก ณ เวลาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ในระดับต่ำ เช่น เวลากลางคืน หรือ ณ เวลาที่มีไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนคงเหลือในระบบโครงข่ายจำนวนมาก ระบบ Smart Charging ช่วยให้ผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าสามารถระบุได้ว่าควรจะเข้ารับบริการอัดประจุไฟฟ้า ณ สถานีอัดประจุไฟฟ้าใด ทำให้ผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าทราบได้ว่าราคาไฟฟ้าที่ตนกำลังจะซื้อเพื่อยายนต์ยานยนต์ไฟฟ้ามีอัตราเท่าใด

*กฎหมายมีบทบาทในการส่งเสริมการอัดประจุไฟฟ้าที่ยืดหยุ่นหรือไม่ ?

เมื่อพูดถึง "ระบบโครงข่ายไฟฟ้า" และกรอบทางกฎหมายในกำกับดูแลการประกอบกิจการระบบโครงข่ายไฟฟ้าในประเทศไทย เราจะนึกถึงพ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ซึ่งมีทั้งบทบัญญัติที่อนุญาตและกำกับมาตรฐานทางวิศวกรรมของตัวระบบโครงข่ายไฟฟ้า กล่าวคือ ระบบที่ระบุว่าบุคคลที่จะสามารถขออนุญาตประกอบกิจการระบบโครงข่ายไฟฟ้าต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ต้องก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าตามมาตรฐานทางวิศวกรรมแบบใด ตลอดจนหากมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ได้มาซึ่งที่ดินเพื่อการก่อสร้างและใช้งานระบบโครงข่ายซึ่งเป็นของบุคคลอื่นจะสามารถดำเนินการให้มีการเวนคืนที่ดินหรือรอนสิทธิที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าได้หรือไม่

กล่าวโดยสรุปบทบัญญัติเหล่านี้ช่วยให้ประเทศไทย "มี" ระบบโครงข่ายไฟฟ้าพร้อมใช้งาน ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบกิจการระบบโครงข่ายไฟฟ้านั้นมีทั้งที่เป็นหน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชน

นอกจากมุมมองในฝั่งผู้ประกอบกิจการระบบโครงข่ายไฟฟ้าแล้ว พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ยังบัญญัติถึงสิทธิในการใช้และเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าของบุคคลที่ไม่ได้มีโครงข่ายไฟฟ้าเป็นของตัวเอง หรือที่เรียกว่า Third Party Access (TPA) โดยกฎหมายบัญญัติหน้าที่ให้ผู้ประกอบกิจการระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีหน้าที่ตามกฎหมาย ต้องยินยอมให้บุคคลที่ไม่ได้มีระบบโครงข่ายไฟฟ้าสามารถเชื่อมและใช้โครงข่ายไฟฟ้าได้ และจะต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

ระบบ TPA ข้างต้นสามารถช่วยส่งเสริมการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ระหว่างเอกชน เช่น ผู้ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ จากแผงโซลาร์บนหลังคาบ้านขายไฟฟ้าให้กับเพื่อนบ้านผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชน โดยไม่ได้ขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายแต่ใช้บริการระบบโครงข่ายของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเพื่อส่งผ่านไฟฟ้า ทั้งโดยอาศัยดิจิทัลแพลตฟอร์มในการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากัน (โดยอาจทำสัญญาในรูปแบบของ Smart Contract)

*มองไปข้างหน้าผ่านกรอบทางกฎหมาย

การใช้ระบบ TPA เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ตามที่ได้ยกตัวอย่างนั้น เป็นองค์ประกอบเพียงส่วนเดียวในการตอบสนองต่อความท้าทายอันเกิดจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นของไฟฟ้าเพื่อยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น กล่าวคือ ระบบ TPA ช่วยให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนจากผู้ผลิตไฟฟ้าจำนวนมาก และช่วยสนับสนุนให้เกิดความเพียงพอของปริมาณไฟฟ้า (สีเขียว) เพื่อตอบสนองความต้องการในภาคการขนส่ง อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ยานยนต์ยังอาจ "ไม่รู้" ว่ามีไฟฟ้าสีเขียวที่พร้อมจะถูกใช้และอาจยังไม่ได้รับสัญญาณว่าควรไปรับการอัดประจุไฟฟ้าที่สถานีบริการใด

เราอาจกล่าวได้ว่า ระบบการจำหน่ายไฟฟ้าผ่านสถานีอัดประจุไฟฟ้าจะต้องถูกพัฒนาให้มีความอัจฉริยะ กล่าวคือ มีศักยภาพที่จะเชื่อมต่อและสื่อสารกันทางข้อมูลระหว่างระบบโครงข่ายไฟฟ้า ข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นจึงได้แก่คำถามที่ว่าผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าจะสามารถสร้างหรือส่งเสริมความอัจฉริยะของระบบการจำหน่ายไฟฟ้าผ่านสถานีอัดประจุของตนได้หรือไม่ การดำเนินการดังกล่าวเป็นกิจการที่จะต้องขอรับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 หรือไม่ ?

พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 บัญญัติให้ บุคคลที่ประสงค์จะประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งรวมถึงกิจการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งมิใช่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า (โปรดดู ข้อ 5 (4) ของประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง การกำหนดประเภทและอายุใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2551) มีหน้าที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้าจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550

ผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าจึงสามารถขอรับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (ซึ่งรับมาจากโครงข่ายไฟฟ้า) ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายต่อไปว่า บริการอัดประจุไฟฟ้า ยังอาจ "ไม่อัจฉริยะ" ก็ได้ กล่าวคือให้บริการอัดประจุไฟฟ้าแก่ยานยนต์ไฟฟ้า แต่ผู้ประกอบการอาจไม่เลือกใช้เทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยให้เกิดการแลกเปลี่ยนและประมวลผลข้อมูลเกี่ยวไฟฟ้าในระบบโครงข่าย ส่งผลให้ผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าไม่อาจได้รับข้อมูลว่าควรจะนำยานยนต์เข้ามารับบริการอัดประจุไฟฟ้าเมื่อใดและในสถานที่ใด

กระทรวงคมนาคมของสหราชอาณาจักรได้เผยแพร่รายงานชื่อ "Electric Vehicle Smart Charging: Government Response to the 2019 Consultation on Electric Vehicle Smart Charging" เมื่อเดือน มิ.ย.64 ระบุว่า "เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของ Smart Charging นั้นจะบรรลุได้ยาก หากปราศจากการแทรกแซงในเชิงการกำกับดูแล (Regulatory Intervention)"

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงได้ออกข้อเสนอว่าควรใช้กฎหมายว่าด้วยยานยนต์อัตโนมัติและยานยนต์ไฟฟ้า (Automated and Electric Vehicle Act 2018) หรือ AEV Act กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้ารายใหม่มีหน้าที่ต้องใช้ระบบ Smart Charging โดยจะต้องเป็นระบบที่มีมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความสามารถในการทำงานร่วมกัน (Interoperability) และการรักษาเสถียรภาพ (Stability) ของโครงข่ายไฟฟ้าได้ และในระยะที่สองควรมีการพัฒนากฎหมายกำหนดให้มีการขยายหน้าที่ในการใช้ระบบ Smart Charging ให้ครอบคลุมถึงบุคคลใด ๆ ที่สามารถควบคุมระบบอัดประจุไฟฟ้าและบุคคลที่ทำหน้าที่รวบรวมโหลดไฟฟ้า (ซึ่งเป็นหน้าที่ที่อยู่นอกเหนือจากขอบเขตการบังคับใช้ของ AEV Act)

แนวทางการพัฒนากฎหมายในสหราชอาณาจักรได้เผยให้เห็นถึงทั้งโอกาสและความท้าทายอันเกิดจากการพัฒนากรอบในการกำกับดูแล ในแง่ของความท้าทายย่อมได้แก่ การที่ผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าในฐานะผู้รับใบอนุญาตอาจมีต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมายเพิ่มขึ้น และมีความจำเป็นต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานของ Smart Charging อย่างไรก็ตาม การพัฒนาให้ระบบการอัดประจุไฟฟ้ากลายเป็นระบบ Smart Charging ก็สามารถช่วยให้การให้บริการอัดประจุไฟฟ้ามีคุณภาพดีขึ้นและเป็นปัจจัยส่งเสริมความยั่งยืนทางพลังงาน

และขอตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า การส่งเสริมระบบ Smart Charging และการส่งเสริมความยืดหยุ่นของระบบโครงข่ายไฟฟ้านั้นอาจจำเป็นที่จะต้องไปให้ไกลว่ากฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน เนื่องจากองค์ประกอบที่ขาดไปของระบบ Smart Charging และ Grid Flexibility ได้แก่ การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล ซึ่งอาจก่อความเสี่ยงด้านไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในบทความฉบับถัดไปจะได้วิเคราะห์ความท้าทายดังกล่าวและบทบาทของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

อ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ

ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law) หลักสูตรนานาชาติ

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ