วิจัยกสิกรฯ ชี้ตลาดโปรตีนทางเลือกปีนี้เจอข้อจำกัด จากผลกระทบค่าครองชีพ-ต้นทุนสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 22, 2022 17:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วิจัยกสิกรฯ ชี้ตลาดโปรตีนทางเลือกปีนี้เจอข้อจำกัด จากผลกระทบค่าครองชีพ-ต้นทุนสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 65 ตลาดโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่อาจมีมูลค่าประมาณ 4,100 ล้านบาท ขยายตัวได้ราว 5.1% จากที่คาดจะโตได้ราว 7.0% เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่เร่งตัวสูงจากภาวะเงินเฟ้อ

อัตราการเติบโตนี้ ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการเติบโตของอาหารในกลุ่มโปรตีน ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 8.8% ในปีนี้ ในขณะที่ปริมาณการบริโภคโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ในภาพรวมอาจหดตัว (ติดลบ 3.1%) เพราะผู้บริโภคควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุมมากขึ้น โดยการเลือกซื้ออาหารทั่วไปที่ราคาถูกกว่าและหาซื้อได้ง่ายกว่า

ท่ามกลางกำลังซื้อและงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงเป็นข้อจำกัดของการเพิ่มยอดขายหรือฐานลูกค้าใหม่สำหรับสินค้าโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้ซื้อที่มีรายได้ต่ำ-ปานกลาง ตลอดจนผู้บริโภคเป้าหมายซึ่งยังเป็นเพียงผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มที่มีจำนวนไม่มากในไทย (อาทิ กลุ่มผู้ออกกำลังกาย กลุ่มรักสุขภาพ-ควบคุมอาหาร กลุ่มรักสิ่งแวดล้อม ฯลฯ) ซึ่งก็อาจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคไปตามกำลังซื้อได้เช่นกัน

นอกจาก ประเด็นเรื่องกำลังซื้อผู้บริโภคและการแข่งขันกับอาหารโปรตีนทั่วไปแล้ว การดำเนินธุรกิจโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ในปี 65 ยังมีความท้าทายสำคัญจาก

1. การแข่งขันที่เริ่มรุนแรงจากจำนวนผู้เล่นที่เพิ่มขึ้น อาจกระทบต่อผู้ประกอบการรายเล็กมากกว่ารายใหญ่ เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่จะมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะระบบการผลิตที่ครบวงจร การผลิตที่ประหยัดต่อขนาด มีช่องทางจัดหน่ายของตนเองครอบคลุมทั่วประเทศ จึงทำราคาสินค้าได้ดี-แข่งขันได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กมักเผชิญกับข้อจำกัดดังกล่าว จึงทำให้มีต้นทุนการผลิตและค่าการตลาด อาทิ ค่าส่วนแบ่งการขาย (ค่า GP) เป็นต้น ที่สูงกว่าและเข้าถึงผู้บริโภคได้ยากกว่า

ดังนั้น ทำให้คาดว่าในระยะต่อไป การขับเคลื่อนของธุรกิจจะยังมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก ขณะที่การปรับตัวสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก อาจอยู่ที่การรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง หรือการพิจารณาร่วมพัฒนาธุรกิจกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจและผลักดันการเติบโตของตลาดนี้

2. ความเสี่ยงจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น วัตถุดิบหลักในการผลิตโปรตีนทางเลือกของไทย ส่วนใหญ่ยังมาจากถั่วเหลือง และไทยยังพึ่งพาการนำเข้าถั่วเหลืองในสัดส่วนที่สูง ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ราคาธัญพืชโลก ราคาพลังงานและค่าขนส่งที่ยังมีแนวโน้มขยับขึ้นได้อีกในช่วงที่เหลือของปี 65 อาจทำให้ธุรกิจมีภาระต้นทุนที่ขยับสูงขึ้น

ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้าการพัฒนาวัตถุดิบทางเลือกน่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งการเลือกใช้วัตถุดิบใดๆ คงต้องคำนึงถึงต้นน้ำหรือระบบการผลิตที่ต้องมีความมั่นคงเพียงพอในระยะยาวและอาจคำนึงถึงวัตถุดิบท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์เพื่อสร้างความแตกต่างควบคู่ไปด้วย

โดยภายใต้ความท้าทายของตลาดในประเทศ การมองหาตลาดส่งออกเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับการขยายตลาดโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ เพราะการตอบรับในตัวสินค้าของผู้บริโภคในต่างประเทศมีค่อนข้างสูงกว่าตลาดในประเทศ สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ที่สามารถเติบโตได้ดี ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 ทั้งในส่วนของโปรตีนทางเลือกจากพืช (มูลค่าการส่งออกราว 628.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 13.5% YoY) ซึ่งมีตลาดศักยภาพสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่นและอาเซียน เป็นต้น และโปรตีนจากแมลง (มูลค่าการส่งออกราว 129.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 25.0% YoY) ซึ่งมีตลาดศักยภาพส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป อาทิ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี เบลเยียม เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในการขยายตลาดส่งออกก็อาจมีค่าใช้จ่ายและการแข่งขันกับสินค้าอาหารในประเทศปลายทางที่สูงเช่นกัน นอกเหนือจากโจทย์ด้านการเพิ่มรอบของการบริโภคเพราะอายุของผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะกลุ่มแช่เย็นแช่แข็งที่ค่อนข้างยาว ดังนั้น การศึกษาโอกาสทางการตลาดเชิงลึกที่รอบด้าน ควบคู่กับการชูจุดแข็งในสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น เมนูอาหารไทย อาหารทะเลจากพืช เป็นต้น กระบวนการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และการสร้างเรื่องราวที่จูงใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย จะยังเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ