นักวิชาการ แนะปรับค่าแรงขั้นต่ำ 10% ชดเชยเงินเฟ้อ ชี้ช่องก้าวสู่ Tier 1

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday August 14, 2022 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถึงแม้สถานะเรื่องการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยจะดีขึ้นมาอยู่ใน Tier 2 แต่ยังคงไปไม่ถึงมาตรฐานสากลขั้นต่ำที่หนดไว้ในหลายด้าน เช่น ผู้ถูกดำเนินคดีและลงโทษในคดีค้ามนุษย์มีจำนวนลดลง เจ้าหน้าที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการระบุตัวผู้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเหยื่อการค้ามนุษย์และแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง ส่วนใหญ่แรงงานเหล่านี้เป็นแรงงานข้ามชาติ

หากต้องการอยู่ใน Tier 1 ยังต้องมีการดำเนินงานอีกหลายเรื่อง เช่น ควรยอมรับอนุสัญญา ILO 87/98 สิทธิในการรวมตัวและสิทธิในการเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงาน การให้แรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ ซึ่งหากมีองค์กรของแรงงานข้ามชาติหรือสหภาพแรงงานจะทำให้ปัญหาการค้าแรงงานทาสและค้ามนุษย์ในไทยดีขึ้นด้วย หรือเปิดโอกาสให้แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติสามารถตั้งสหภาพแรงงานร่วมกันได้ หรือสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเดียวกันได้ หรือเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งสหภาพฯ แบบทั่วไปที่สมาชิกไม่สังกัดบริษัท อาชีพ อุตสาหกรรม หากไทยสามารถยกระดับมาตรฐานแรงงานดังกล่าวได้ ย่อมมีโอกาสที่ไทยขึ้นมาอยู่ Tier 1 เกิดผลดีการค้าการลงทุนระยะยาว สร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมที่แบ่งปันกันมากขึ้น

ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพียง 5-8% นั้นเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงแทบไม่มีการปรับขึ้น และในบางพื้นที่การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำแท้จริงติดลบ ดังนั้นควรต้องปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 380-400 บาททั่วประเทศจึงจะเพียงพอต่อการดำรงชีพและสามารถบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ และภาระหนี้สินของผู้ใช้แรงงานและครอบครัวได้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจนั้นต้องมากเพียงพอและอย่างน้อยต้องสูงกว่าอัตราเงินเฟ้ออย่างน้อย 10% การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในระดับที่เหมาะสมจะบรรเทาปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับที่สูงมาก ไม่เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อมากนัก ควรยกเลิกแนวทางการพัฒนาหรือยุทธศาสตร์ค่าแรงถูกเพื่อดึงดูดการลงทุน การกดค่าแรงขั้นต่ำเพื่อดึงดูดการลงทุนเป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่ไม่เหมาะสำหรับประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ประชากรวัยหนุ่มสาวไม่มากและเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในหลายกิจการ แต่เสนอให้ใช้ผลิตภาพแรงงานสูงแข่งขัน การลงทุนทางด้านนวัตกรรมแข่งขัน ความโปร่งใสปลอดคอร์รัปชันดึงดูดการลงทุน เสถียรภาพทางการเมือง ความต่อเนื่องและคงเส้นคงวาของนโยบายดึงดูดการลงทุน รวมทั้งใช้มาตรฐานระบบนิติรัฐที่ดี โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีดึงดูดการลงทุน ต้นทุนการเงินต่ำ และเข้าถึงแหล่งทุนง่ายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุน

การเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำในไทยจะไม่เกิดปัญหาการว่างงานเพราะไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะต่ำในหลายอุตสาหกรรมและต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจึงช่วยกระตุ้นอำนาจซื้อของแรงงานกลุ่มนี้ มีผลต่อการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศให้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน การใช้ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าการใช้หลายอัตราโดยเฉพาะในมิติความเป็นธรรมและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ จึงขอเสนอให้ไตรภาคีปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 380 บาทต่อวันเป็นอย่างน้อยและควรใช้อัตราเดียวทั่วประเทศ อัตราดังกล่าวเหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจไทยที่มีสัญญาณของการฟื้นตัวจากการเปิดประเทศและนายจ้างในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆสามารถจ่ายได้ นายจ้างที่ไม่สามารถจ่ายได้ในอัตรา 380 บาทต่อวัน รัฐบาลควรมีมาตรการทางการเงิน มาตรการปรับโครงสร้างการผลิต มาตรการอุดหนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ช่วยเหลือกิจการขนาดเล็กขนาดย่อมที่อาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนแรงงานเพิ่มสูงขึ้น

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อยต้องสูงกว่าเงินเฟ้อ 10% นั้นมีความจำเป็นสำหรับประเทศไทยที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจติดอันดับต้นๆ ของโลก มีการกระจุกตัวของอำนาจผูกขาดทางการเมืองและเศรษฐกิจสูง คาดว่า อัตราเงินเฟ้อปีนี้เฉลี่ยน่าอยู่ที่ 6-8% โดยเงินเฟ้อเดือน ก.ค.65 อยู่ที่ 7.61% สูงที่สุดในรอบ 13 ปี โดยราคาอาหารและพลังงานยังทรงตัวในระดับสูง และค่าใช้จ่ายทางด้านการเดินทางและอาหารของครอบครัวผู้ใช้แรงงานทักษะต่ำเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด ฉะนั้นควรมีการปรับค่าแรงให้ผู้ใช้แรงงานเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพและมีเงินออม รวมทั้งมีเงินเหลือพอดูแลสมาชิกในครอบครัวได้บ้าง การใช้อัตราเดียวทั่วประเทศก็มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทยที่ในบางพื้นที่ไม่มีองค์กรลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง และหลายปีที่ผ่านมาบางพื้นที่ไม่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเลย และไม่ได้ปรับเพิ่มเป็นเวลาต่อเนื่องหลายปีติดต่อกัน ในบางพื้นที่ค่าแรงขั้นต่ำจึงมีลักษณะถดถอยหรือติดลบนั่นเองเพราะเงินหรือค่าจ้างเท่าเดิมไม่ได้มีอำนาจซื้อเท่าเดิมเนื่องจากเงินเฟ้อ การไม่ปรับขึ้นเลยจึงเท่ากับการปรับลดค่าแรงขั้นต่ำนั่นเอง ส่วนการวิตกกังวลว่าเมื่อใช้อัตราเดียวทั่วประเทศจะทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมไม่ไปลงทุนในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ห่างไกลศูนย์กลางทางเศรษฐกิจนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบาย หากเกิดสภาวะดังกล่าวก็สามารถแก้ไขโดยไม่ยาก โดยให้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุน สิทธิพิเศษทางภาษี ค่าสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่ถูกพิเศษ หรือมีนโยบายจูงใจอื่นๆ การดำเนินการด้วยมาตรการและนโยบายเหล่านี้ก็จะช่วยให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความเจริญก้าวหน้าระหว่างพื้นที่ต่างๆในประเทศไทยลดลง ลดการกระจุกตัวของพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลและพื้นที่อีอีซี

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันค่าจ้างของแรงงานภาคอุตสาหกรรมแบ่งออกเป็น 4 ระบบใหญ่ คือ 1.ระบบค่าจ้างขั้นต่ำของลูกจ้างในสถานประกอบการกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีและการประกาศบังคับใช้กฎหมายโดยกระทรวงแรงงาน เดิมระบบค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ.2544 จึงได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่โดยมีอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีในจังหวัดของตัวเอง 2.ระบบค่าจ้างเงินเดือนในสถานประกอบการ คือ ค่าจ้างที่นายจ้างเป็นผู้กำหนดจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนตามผลงานในรอบระยะเวลาที่ผ่านมา ปัญหาในสถานประกอบการหลายแห่งเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้มีกำหนดโครงสร้างค่าจ้างที่ชัดเจน ปัญหาอีกประการหนึ่งในปัจจุบัน คือ การไม่มีความแตกต่างระหว่างค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราค่าจ้างประจำปีในสถานประกอบการซึ่งเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ต้องการให้เป็นเพียงค่าจ้างของแรงงานไร้ฝีมือในระยะแรกของการทำงานไม่ใช่ค่าจ้างของลูกจ้างที่ทำงานมาหลายปีจนมีทักษะฝีมือแล้ว ค่าจ้างในระบบนี้มักเป็นไปตามค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 3.ระบบค่าจ้างรายชิ้น เป็นระบบค่าจ้างที่จ่ายให้ตามจำนวนชิ้นงานโดยไม่คำนึงถึงเวลาที่ใช้ในการผลิต ใช้กับแรงงานนอกระบบในกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งค่าจ้างถูกกำหนดโดยผู้ว่าจ้าง จากการศึกษาของนายวรวิทย์ เจริญเลิศ และ น.ส.นภาพร อติวานิชพงศ์ พบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้รับเมื่อคำนวณตามชั่วโมงการทำงานแล้วต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน และโดยส่วนใหญ่ลูกจ้างไม่มีอำนาจต่อรองในเรื่องค่าจ้างรายชิ้น ยกเว้นในกรณีมีอุปสงค์หรือความต้องการสินค้าสูงมีความจำเป็นต้องการแรงงานเพื่อเร่งผลิต อำนาจต่อรองของลูกจ้างรายชิ้นจึงสูงขึ้น 4. ระบบค่าจ้างของแรงงานนอกระบบ ระบบค่าจ้างของแรงงานนอกระบบมักยึดการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) เป็นพื้นฐานโดยไม่ใช่ค่าจ้างที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิต (Living Wage) แรงงานนอกระบบมักมีสภาพการจ้างที่ไม่เป็นทางการ ไม่เป็นธรรม ขาดความมั่นคงในงานและไม่มีสวัสดิการแรงงาน รวมทั้งมักถูกเลือกปฏิบัติจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานและไม่ได้ประโยชน์จากระบบประกันสังคมจากสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า หลักเกณฑ์ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำตามมาตรฐานสากล ตามแนวทางขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ระบุว่า อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำนั้น หมายถึง อัตราค่าจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว (ตัวลูกจ้าง+ภรรยา+บุตร 2 คน) ให้อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขเกณฑ์การพิจารณา อย่างไรก็ตาม หลายประเทศที่ด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจรวมทั้งไทยมิได้ใช้คำนิยามดังกล่าวขององค์การแรงงานระหว่างประเทศมาเป็นแนวทางในการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ การปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในแต่ละปีนั้น แต่ละประเทศก็จะมีแนวทางและหลักเกณฑ์ของตนเองแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่จะพิจารณาจากการปรับเพิ่มขึ้นของ ภาวะค่าครองชีพ (Cost of Living) ของปีนั้นๆ เป็นหลัก หากภาวะค่าครองชีพ ปรับเพิ่มขึ้นไปกี่เปอร์เซ็นต์ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำก็จะต้องปรับเพิ่มตามไปเท่านั้น เรียกว่า ปรับเพิ่มตามภาวะค่าครองชีพ (Cost of Living Adjustment) เพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้เพียงพอกับภาวะค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ลูกจ้างนั้นจะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเดิมแต่อย่างใด หากแต่ปรับเพิ่มให้รายได้มีความสมดุลกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เพื่อมิให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนจากการมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น หลักเกณฑ์ค่าจ้างประจำปี กรณีของไทยนั้น เรามีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำบังคับใช้กับภาคอุตสาหกรรม และบริการของภาคเอกชน ไม่รวมภาคเกษตร และภาครัฐ ตั้งแต่เดือน เม.ย.2516 จุดประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองทางสังคม และกระจายผลประโยชน์ของการพัฒนา คณะกรรมการค่าจ้างประกอบด้วยตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ หรือ ระบบไตรภาคีเป็นผู้พิจารณากำหนด ประเทศไทยใช้มาทั้งระบบอัตราเดียวทั่วประเทศและระบบหลายอัตรากำหนดตามพื้นที่กลุ่มจังหวัดต่างๆ

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่ต้องปรับตัวขึ้นสูงแน่เป็นเพียงแนวโน้มสำคัญหนึ่งของตลาดแรงงานไทยและตลาดแรงงานในเอเชียเท่านั้น ยังมีแนวโน้มอื่นๆอีก เช่น การใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์หรือสมองกลอัจฉริยะแทนแรงงานมนุษย์ ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องปรับตัวต่อแนวโน้มต่างๆ และ รัฐต้องมีนโยบายและมาตรการอันเหมาะสมในการตอบสนอง ไม่เช่นนั้นแล้วจะสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจในมิติใดมิติหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขัน ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ แนวโน้มที่สำคัญและยังเป็นแนวโน้มที่ช่วยอธิบายเราว่า ค่าจ้างในไทยแพงหรือไม่ คือ ผลิตภาพแรงงานไทยในอนาคตว่าเป็นอย่างไร ปัจจุบันผลิตภาพแรงงานไทย (Labor Productivity) เติบโตระดับหนึ่งแต่ไม่สูงเท่าจีน เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย แต่ดีกว่า ลาว เขมร เมียนมา ขณะเดียวกันผลตอบแทนของแรงงานในช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโควิดก็ลดลงทุกระดับการศึกษา สะท้อนปัญหาด้านคุณภาพของการศึกษาไทย ขณะที่มีนักเรียนนักศึกษาจำนวนไม่น้อยตกออกจากระบบการศึกษาและเกิดการสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss) ในช่วงล็อคดาวน์ปิดโรงเรียนปิดมหาวิทยาลัย ปัญหาการตกออกจากระบบการศึกษาและการสูญเสียการเรียนรู้จำนวนมากจะเกี่ยวพันกับคุณภาพแรงงานในอนาคตที่อาจด้อยลงหากไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาเสียตั้งแต่ตอนนี้

ผลิตภาพแรงงานไทยโดยเฉลี่ยต่อคนปรับด้วยอำนาจการซื้อเปรียบเทียบ (Purchasing Power Parity) หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว พบว่าผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคนของไทยปรับด้วยอำนาจการซื้อเปรียบเทียบ (PPP) อยู่ในระดับปานกลาง ผลิตภาพการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวและเป็นตัวกำหนดระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลอย่างมากต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผลิตภาพแรงงานเป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพในการทำงานของปัจจัยการผลิตด้านแรงงานเพื่อใช้เปรียบเทียบผลงานทางด้านเศรษฐกิจ โดยทำการวัดจากอัตราส่วนของผลผลิตกับจำนวนแรงงานในระบบเศรษฐกิจ ผลิตภาพแรงงานในระยะหลังไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นนักเพราะมีปัญหา การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะทำให้ไม่สามารถพัฒนาไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตได้ ขณะเดียวกันระบบการศึกษาก็มีปัญหาทางด้านคุณภาพในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ป้อนเข้าสู่ระบบการผลิต นอกจากนี้แรงงาน (ประชากรในวัยทำงาน) ยังมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยในทศวรรษนี้จะเพิ่มเพียง 0.2% เท่านั้น ขณะที่ทศวรรษที่แล้วก็เพิ่มน้อยอยู่แล้ว 1% แล้วแรงงานส่วนใหญ่ที่ทำงานอยู่ก็ทำงานนอกระบบเป็นส่วนใหญ่ เกือบครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานไม่ใช่ลูกจ้างระยะยาวที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน

โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้

1.ขอให้คณะกรรมการไตรภาคีทบทวนปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำให้เพียงพอต่อการดำรงชีพของผู้ใช้แรงงานและครอบครัวในภาวะเงินเฟ้อสูงและขอให้ปรับเพิ่มขึ้นเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ โดยเสนอให้ปรับเพิ่มเป็น 380-400 บาทต่อวัน ซึ่งเท่ากับเพิ่มสูงกว่าการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อประมาณ 10%

2.รัฐบาลควรรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง อนุสัญญาสองฉบับนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของแรงงานดีขึ้นโดยรัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณมาดูแล จะเกิดกลไกและกระบวนการในการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมมากขึ้นในระดับสถานประกอบการแต่ละแห่ง แต่ต้องทำให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในภาคการผลิตภาคบริการต่างๆ ด้วย ขบวนการแรงงานและนักวิชาการแรงงานได้เคลื่อนไหวเรียกร้องต่อเนื่องมามากกว่า 20 ปีแล้ว หากรัฐบาลชุดนี้รับรองอนุสัญญาจะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง เช่นเดียวกับการออกกฏหมายเก็บภาษีทรัพย์สินและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางและโครงการ EEC อนุสัญญาสองฉบับนี้จะทำให้เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยในระดับองค์กร อันเป็นพื้นฐานให้ประชาธิปไตยทางการเมืองมีความเข้มแข็ง

3.ทบทวนและยกเลิกนโยบาย 3 ขอ เพราะเป็นการทำลายหลักการของระบบประกันสังคมและจะทำให้เกิดปัญหาความยั่งยืนทางการเงินของระบบประกันสังคมอย่างแน่นอนโดยเฉพาะกองทุนชราภาพ

4.ขอให้รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้รัฐบาลดำเนินการหามาตรการให้สถานประกอบกิจการ ที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 (เกี่ยวกับการจ้างงานแบบเหมาช่วงหรือซับคอนแทรค) อย่างเคร่งครัดเพื่อให้ลูกจ้างซับคอนแทรคได้รับความเป็นธรรมทางด้านสวัสดิการและการจ้างงาน

5.ขอให้รัฐบาลประกาศยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 7 เฉพาะส่วนที่ตัดสิทธิลูกจ้างรายเดือนที่ทำงานล่วงเวลาไม่ให้ได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาเช่นเดียวกับลูกจ้างรายวัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 มาตรา 27 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

6.ขอให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมาย ให้หนี้ที่เกิดจากเงินที่นายจ้างต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อยู่ในบุริมสิทธิลำดับที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

7.ขอให้รัฐบาลเร่งรัดออกกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้

8.ขอเสนอให้สร้างโอกาสให้หญิงและชาย รวมทั้งแรงงานต่างด้าว มีงานที่มีคุณค่าและก่อให้เกิดความสำเร็จโดยจะต้องมีเสรีภาพ เสมอภาค ความมั่นคงและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

9.เสนอให้แรงงานข้ามชาติสามารถเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในประเทศไทยได้ หรือสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานร่วมกับแรงงานไทยได้

10.การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยภาพรวมนั้น ต้องอาศัยทั้งการยกระดับผลิตภาพของแรงงาน ผลิตภาพของทุน ผลิตภาพจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งผลิตภาพของระบบราชการและระบบการเมืองไปพร้อมกัน จะอาศัยแต่ผลิตภาพของแรงงานในระบบการผลิตย่อมไม่เพียงพอ

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ยุคดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นนี้ ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้สินของผู้ใช้แรงงาน ครัวเรือน และกิจการต่างๆ ย่อมเพิ่มสูงขึ้น จึงมีความจำเป็นที่ครัวเรือนและกิจการต่างๆ ต้องปรับโครงสร้างทางการเงินให้เหมาะสมต่อภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ด้วยการลดภาระหนี้สินที่ไม่จำเป็น เพิ่มรายได้ เพิ่มทุน เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำรงชีพ (กรณีผู้ใช้แรงงานและครัวเรือน) มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินกิจการและเพิ่มโอกาสในการลงทุน (กรณีกิจการต่างๆ) ในระดับนโยบายนั้นควรสนับสนุนเพื่อพัฒนาภาวะแวดล้อมทางการเงินเพื่อให้เกิดการเข้าถึงเงินทุนด้วยต้นทุนต่ำ เปิดเสรีภาคการเงินเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินอย่างแท้จริง อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการทางการเงิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ