ครม.เห็นชอบมาตรการ Quick Win และมาตรการต่อเนื่อง แก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 16, 2022 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ว่า ครม.เห็นชอบแนวทางของมาตรการระยะเร่งด่วน (Quick Win) เพื่อรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจและมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง (Follow-up Urgent Policy) ตามที่คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจเสนอ ซึ่งผลการประเมินเครื่องบ่งชี้วิกฤติเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน กล่าวคือ

1. วิกฤตต้นทุนพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ พบว่าปริมาณน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า และสินค้าที่จำเป็นยังไม่ขาดแคลน แต่มีราคาสูงขึ้น และจากการดำเนินงานตามมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขาดสภาพคล่อง

2. วิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต และการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร พบว่าวัตถุดิบด้านการเกษตร อาทิ ปุ๋ยและอาหารสัตว์ไม่ขาดแคลน แต่มีราคาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินค้าเกษตรบางรายการ เช่น ข้าวนาปี และยางพารา มีราคาขายที่ต่ำกว่าต้นทุน

3. วิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs พบว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เริ่มลดลงตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ แต่รายจ่ายครัวเรือนยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในหมวดค่าโดยสาร ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วน SMEs ในภาพรวมค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ในบางสาขายังไม่กลับสู่ระดับปกติ

4. วิกฤติเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการรับรองวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต พบว่าควรต้องเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง

สำหรับมาตรการระยะเร่งด่วน (Quick Win) เพื่อรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ อาทิ

1. มาตรการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนให้ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง (ตอนบ่ายและช่วงหัวค่ำ) 2.ลดการใช้ไฟฟ้าของหน่วยงานราชการ 3.เร่งรัดการบังคับใช้ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ พ.ศ. .... 4.จัดจำหน่ายบัตรโดยสารรายเดือน 5.พิจารณาต่ออายุมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันแพง 6.โครงการบริหารจัดการปุ๋ย ประกอบด้วยการชดเชยราคาปุ๋ยให้เกษตรกร สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการให้สถาบันเกษตรกร

7.โครงการส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในสถานการณ์ปุ๋ยแพง 8.โครงการพักทรัพย์พักหนี้ 9.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) 10.มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs 11.การบูรณาการฐานข้อมูลเกษตรกรในหลายมิติ เช่น ฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรและฐานข้อมูลพื้นที่ทางการเกษตร ฐานข้อมูลหนี้เกษตรกร 12.การขยายวัตถุประสงค์ของมาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจภายใต้วงเงินจาก พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ

ส่วนมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง (Follow-up Urgent Policy) อาทิ 1.ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 2.ลดต้นทุนและปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งโดยมุ่งเน้นการขนส่งทางราง 3.ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ภายในประเทศอย่างเต็มประสิทธิภาพ 4.ศึกษาความคุ้มค่าในการร่วมลงทุนตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยโพแทส 3.พัฒนาทักษะทางการเงินในทุกช่วงวัย 4.การดำเนินการของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย 5.เร่งส่งเสริมการค้าออนไลน์ 6. การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและหุ่นยนต์ 7.เจรจา Digital Economic Partnership กับสิงคโปร์ 8.ขยายความร่วมมือด้าน BCG เป็นต้น

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการมาตรการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น 1.ตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 35 บาทต่อลิตร (สิ้นสุด ก.ย.65) 2.ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน (สิ้นสุด ส.ค.65) 3.มาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยของ ธ.ก.ส. 4.การจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ 5.โครงการพักทรัพย์พักหนี้ 6.โครงการคนละครึ่ง 7.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และ 8.การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ