รายงาน กนง.ระบุการปรับขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไปเหมาะสมบริบทศก.-เงินเฟ้อไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 24, 2022 10:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4/2565 วันที่ 5 และ 10 สิงหาคม 2565 ซึ่งมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%ต่อปี โดยให้มีผลทันที ส่วน 1 เสียง เห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ต่อปี

คณะกรรมการฯ เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปมีความเหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องและชัดเจนขึ้น การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำเป็นพิเศษเพื่อรองรับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 จึงมีความจำเป็นลดลง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ และคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 มีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายในช่วงที่เหลือของปี

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาสินค้าที่ราคาปรับขึ้นมีจำนวนมากขึ้น แต่ยังจำกัดอยู่ในหมวดอาหารและพลังงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งผ่านราคาโดยตรงจากต้นทุนวัตถุดิบและพลังงาน อาทิ ราคาเนื้อสัตว์ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มที่สูงขึ้น โดยเห็นการส่งผ่านต้นทุนไปยังเงินเฟ้อพื้นฐานโดยเฉพาะในหมวดอาหารสำเร็จรูปมากกว่าคาด

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางไม่ได้ปรับสูงขึ้นมาก และยังยึดเหนี่ยวในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% แม้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะสั้นจะปรับขึ้นตามต้นทุนสินค้าสำคัญที่ครัวเรือนและธุรกิจเผชิญในปัจจุบัน ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 66 จะทยอยลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่ทยอยคลี่คลาย จากราคาพลังงานและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง กอปรกับราคาเนื้อสุกรและราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับลดลงอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปยังมีความเสี่ยงด้านสูง ซึ่งต้องติดตามการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการที่อาจสูงขึ้นและเร็วกว่าคาดจากการที่ต้นทุนหลายประเภทสูงขึ้นพร้อมกัน และแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ที่อาจสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่ราคาพลังงานที่อาจปรับลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยลดทอนความเสี่ยงเงินเฟ้อในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี ยังประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน (cost-push inflation) เป็นสำคัญ คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

คณะกรรมการฯ เห็นว่าการทยอยลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ควบคู่กับการมีมาตรการเฉพาะจุดเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบาง เหมาะสมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่แตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะช่วยให้ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้น แต่บางกลุ่มยังเปราะบาง เช่น ผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ และลูกหนี้ประเภทไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) มาตรการปรับโครงสร้างหนี้จึงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้ นโยบายการเงินเป็นเครื่องมือที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง (blunt tool) จึงอาจไม่ใช่เครื่องมือที่เหมาะสมในการดูแลกลุ่มเปราะบาง และการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำต่อเนื่องอาจสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว

ดังนั้น ในการการดำเนินนโยบายการเงิน คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและชัดเจนขึ้น โดยแรงส่งหลักมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด และการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือน โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดโควิด-19 ได้ภายในสิ้นปีนี้และจะขยายตัวต่อเนื่องในระยะต่อไป

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่งก่อนที่จะทยอยปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่ทยอยคลี่คลาย แต่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง คณะกรรมการฯ ประเมินว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษเพื่อรองรับวิกฤตโควิด-19 ในระยะที่ผ่านมามีความจำเป็นลดลง

โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีในการประชุมครั้งนี้เพื่อปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อเอื้อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องและไม่สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในระยะต่อไป ส่วนกรรมการ 1 ท่านเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ต่อปีเพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต โดยประเมินว่าจะไม่กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

คณะกรรมการฯ เห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยประเมินว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายสภาพคล่องยังแตกต่างกันบ้างในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่บางกลุ่มยังเปราะบางโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ จึงเห็นควรให้ดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายแต่มีความผันผวนสูง โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของดอลลาร์ สรอ. เป็นหลัก จากความกังวลต่อสินทรัพย์เสี่ยงภายใต้แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการและความผันผวนในตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทำให้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษมีความจำเป็นลดลง และเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ