สภาพัฒน์ชี้การพัฒนาปท.ให้สำเร็จตามแผนฯ 13 ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 23, 2022 14:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาพัฒน์ชี้การพัฒนาปท.ให้สำเร็จตามแผนฯ 13 ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ชี้แจงสาระสำคัญของร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแนวทางการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ ในงานประชุมประจำปี 2565 เรื่อง "พลิกโฉมประเทศไทย ก้าวไปด้วยกัน" ว่า ภายใต้ความท้าทายของการพัฒนาประเทศที่ต้องเผชิญในระยะต่อไป ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล ความร่วมมือในการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับนานาชาติ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นสังคมสูงวัย ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน โรคอุบัติใหม่และภัยโรคระบาด

ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงดังกล่าว แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาบนพื้นฐานของหลักการแนวคิดที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, แนวคิด Resilience, เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อมุ่งสู่วัตถุประสงค์หลักของแผนพัฒนาฯ คือ การพลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน

"เงื่อนไขต่างๆ ที่จะต้องเผชิญก่อนไปถึงจุดหมาย เป็นได้ทั้งโอกาส และอุปสรรค" นายดนุชา กล่าว

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ ได้ถ่ายทอดวัตถุประสงค์ออกมาเป็นเป้าหมายหลัก 5 ประการ คือ 1.การปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม เพื่อยกระดับรายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มขึ้นจาก 270,000 บาท/ปี เป็นไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท/ปี 2.การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ ให้ดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) อยู่ในระดับสูง 3.มุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม โดยลดความแตกต่างของความเป็นอยู่ระหว่างกลุ่มประชากรต่ำกว่า 5 เท่า 4.เปลี่ยนผ่านการผลิตและการบริโภคไปสู่ความยั่งยืน โดยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่น้อยกว่า 20% เมื่อเทียบกับปริมาณปกติที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และ 5.สร้างความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่องโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความก้าวหน้าทางดิจิทัล และประสิทธิภาพภาครัฐ

ทั้งนี้ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้กำหนดหมุดหมายการพัฒนาไว้จำนวน 13 ประการ เพื่อเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน มีเป้าหมายและทิศทางที่ช่วยในการสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ ที่ครอบคลุม 4 มิติการพัฒนา ได้แก่

  • มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย

หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำ ด้านสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง มุ่งเน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน โดยลดการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณ สร้างการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์

หมุดหมายที่ 3 ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก โดยสร้างความพร้อมให้ผู้ประกอบการไทย ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า

หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง มุ่งเน้นยกระดับบริการทางการแพทย์และสุขภาพ ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีขั้นสูง และอัตลักษณ์ไทย

หมุดหมายที่ 5 ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุน และยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค โดยพัฒนาความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศปรับปรุงระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ ให้เชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ

หมุดหมายที่ 6 ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน มุ่งเน้นผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกภาคส่วน ต่อยอดอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

  • มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม

หมุดหมายที่ 7 ไทยมี SMEs ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ โดยสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงเทคโนโลยีและแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่าง SMEs กับรายใหญ่

หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยการกระจายความเจริญไปสู่ระดับพื้นที่ และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก

หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม โดยการสนับสนุนครัวเรือนยากจนให้เข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพ ตลอดจนสร้างความคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสม และครอบคลุมคนทุกกลุ่ม มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ให้ความสำคัญกับการนำขยะและของเสียมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ รวมถึงเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

หมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นปรับการใช้ที่ดินให้เหมาะสม จัดทำระบบจัดการน้ำที่สอดรับกับภูมิประเทศและภูมิอากาศ พัฒนาการแจ้งเตือนภัยให้แม่นยำและทันเวลา

  • มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ

หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต โดยเพิ่มกำลังคนคุณภาพรองรับภาคการผลิตเป้าหมาย และพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

หมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน โดยเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของภาครัฐให้เป็นดิจิทัล และปรับโครงสร้างของภาครัฐให้ยืดหยุ่น

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้ไปสู่ความสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคีการพัฒนา ประกอบด้วย ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษาสถาบันวิจัย ประชาคมระหว่างประเทศ และประชาชนทุกคนร่วมดำเนินการ ดังนี้

  • ภาครัฐ ร่วมขับเคลื่อนแผนฯ 13 โดยใช้ 3 กลไกหลักคือ กลไกเชิงยุทธศาสตร์ โดยจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนฯ 13 จำนวน 5 ชุด เพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนโดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่าง ๆ กลไกเชิงภารกิจ มุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติผ่านการถ่ายระดับจากแผนฯ 13 สู่แผนระดับที่ 3 เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และกลไกระดับพื้นที่ ด้วยการเชื่อมโยงการพัฒนาจากชุมชนสู่ประเทศ และจากประเทศสู่ชุมชน ผ่านการเชื่อมโยงกับแผนในระดับพื้นที่ และการขับเคลื่อนในระดับตำบล
  • ภาคีการพัฒนา ภาคเอกชน ร่วมขับเคลื่อนโดยการร่วมลงทุนในภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย สนับสนุนเงินทุน องค์ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยี ภาคประชาสังคม ร่วมขับเคลื่อนโดยการแสดงความเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมติดตามความก้าวหน้าและแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแผนเสริมสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับพื้นที่ สถาบันการศึกษาสถาบันวิจัย ร่วมขับเคลื่อนโดยการผลิตและพัฒนากำลังคนที่สอดคล้องกับความต้องการ รวมถึงศึกษาและวิจัยเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา สำหรับประชาคมระหว่างประเทศ ร่วมขับเคลื่อนโดยการส่งเสริมความร่วมมือทางเทคนิควิชาการ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศ
  • ภาคประชาชน สามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแผนฯ 13 ได้ อาทิ เพิ่มพูนทักษะความรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ผนึกกำลังในชุมชนพัฒนาวิสาหกิจชุมชน จัดการทรัพยากรร่วมกันและสร้างความพร้อมรับมือภัยพิบัติ ท่องเที่ยวในประเทศ วางแผนทางการเงินเพื่อเตรียมพร้อมวัยเกษียณ แสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานต่างๆ ของภาครัฐ การอุดหนุนผู้ประกอบการรายย่อย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคัดแยกขยะ และลดการใช้พลาสติก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ