พาณิชย์ปัดข้อเสนอเอกชนกำหนดราคาส่งออกข้าวขั้นต่ำ เชื่อมีวิธีอื่นบริหาร

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 1, 2008 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศที่เสนอให้รัฐบาลกำหนดราคาส่งออกข้าวขั้นต่ำ เนื่องจากไม่เห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการดังกล่าวหรือกำหนดโควตาส่งออก แต่ควรปล่อยให้ส่งออกอย่างเสรี เพราะขณะนี้ราคาส่งออกข้าวกำลังดี หากไม่ต้องการให้มีข้าวออกไปต่างประเทศในปริมาณมากเกินไป กรมการค้าต่างประเทศก็มีกลไกที่จะบริหารจัดการได้ตามกฎหมาย
"ไม่จำเป็นต้องกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำ จะทำเพื่ออะไร หากไม่อยากให้มีข้าวออกจากประเทศมาก หรือเกรงว่าจะเกิดความขาดแคลน กรมการค้าต่างประเทศก็สามารถชะลอการออกใบอนุญาตได้อยู่แล้ว ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะข้าวเป็นสินค้าควบคุม การส่งออกไปนอกราชอาณาจักรต้องมาขออนุญาต หากไม่อนุญาตก็ส่งออกไม่ได้" นายราเชนทร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะไม่เกิดภาวะขาดแคลนข้าวในประเทศ เพราะรัฐบาลติดตามสถานการณ์ผลผลิต ปริมาณข้าวในสต๊อก ปริมาณบริโภค และการค้าเป็นประจำอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว หากพบว่าสถานการณ์อยู่ในภาวะอันตรายหรือมีแนวโน้มขาดแคลนก็สามารถแก้ปัญหาได้ทันที
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า หากรัฐไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อชะลอการส่งออกข้าว และยังปล่อยให้ส่งออกได้โดยเสรี เชื่อว่าในช่วง 6 เดือนหลังของปีนี้สถานการณ์ข้าวของไทยจะอยู่ในภาวะอันตราย โดยอาจเกิดภาวะขาดแคลน
ขณะนี้ข้าวในสต๊อกรัฐ 2.1 ล้านตันเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ 3-4 เดือนเท่านั้น และรัฐก็ไม่มีโครงการรับจำนำจึงไม่มีข้าวเข้ามาเก็บสต๊อกเพิ่มเติมอีก นอกจากนี้ยังมีการกักตุนเพื่อเก็งกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยราคาจะพุ่งสูงขึ้นกว่าปัจจุบันมาก สุดท้ายผู้บริโภคในประเทศต้องกินข้าวราคาแพงอาจถึงกิโลกรัมละ 40-50 บาท จากปัจจุบันที่กิโลกรัมละกว่า 20 บาท รัฐบาลต้องเลือกเอาว่าจะดำเนินการอย่างไร
"ที่เสนอรัฐกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำชั่วคราวก็เพื่อชะลอการส่งออก และทำให้พวกที่เก็งกำไรหยุดบ้าง เพราะราคาที่ขึ้นไปสูงมากส่วนหนึ่งมาจากการกักตุนเพื่อหวังเก็งกำไร รัฐอาจดำเนินมาตรการชั่วคราว 3 เดือน 6 เดือน เมื่อราคาลงแล้วก็ปล่อยส่งออกเสรี" นายชูเกียรติ กล่าว
สำหรับมาตรการดังกล่าวถือว่าเบาสุดแล้ว หากจะใช้มาตรการแรงกว่านี้ เช่น เก็บภาษีส่งออกก็จะกระทบชาวนา เพราะพ่อค้าอาจกดราคารับซื้อจากชาวนา หรือกำหนดโควตาส่งออกก็จะกระทบต่อชาวนาเช่นกัน เพราะเมื่อส่งออกไม่ได้ ราคาตกลง ชาวนาก็ขายได้ในราคาต่ำ
สถานการณ์ข้าวของไทยในปีนี้ ตลาดยังเป็นของผู้ขาย เพราะผู้ส่งออกประเทศอื่นหยุดส่งออกหมดแล้ว ส่วนในปี 52 หากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังปรับขึ้นสูงอีก เกษตรกรที่หันไปปลูกพืชพลังงานทดแทนก็น่าจะปลูกพืชดังกล่าวต่อไปเพราะยังได้ราคาดี ก็อาจทำให้ผลผลิตข้าวโลกลดลงอีก ไม่เพียงพอต่อการบริโภค ซึ่งจะเกิดปัญหาการแย่งซื้อข้าวจนราคาพุ่งสูง
ส่วนราคาส่งออกข้าวไทยก็ปรับฐาน เชื่อว่า ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อาจไม่เห็นราคาส่งออกข้าวขาวที่ตันละ 300-400 เหรียญสหรัฐแล้ว แต่น่าจะเห็นที่ตันละ 600-700 เหรียญขึ้นไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ