กรมเชื้อเพลิงฯ ปัดต้นตอทำค่าไฟแพงจากเหตุเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่าช้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 21, 2022 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าสาเหตุที่ค่าไฟแพงขึ้นในปัจจุบันเป็นผลมาจากความล่าช้าในการเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ เนื่องจากกรมฯ ตั้งเงื่อนไขในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม โดยเชื่อมโยงกับกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่กำกับ ดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ขอชี้แจงว่าทั้ง 2 กรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกัน และไม่ใช่สาเหตุหลักของค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น

ที่ผ่านมากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ทำหน้าที่แสวงหาแหล่งพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เป็นหน่วยงานภาครัฐระดับกรมที่สร้างรายได้เป็นลำดับที่ 4 ของประเทศ ปีละกว่า 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในการดำเนินการจัดหาผู้ประกอบการสำรวจและผลิตแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ (G1/61) และบงกช (G2/61) ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 65-66

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างความต่อเนื่องในการผลิตปิโตรเลียมเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ จึงได้เริ่มดำเนินการประมูลจัดหาผู้ประกอบการสำรวจและผลิตแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ (G1/61) และบงกช (G2/61) ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ในปี 61 เป็นการล่วงหน้าก่อนที่จะสิ้นอายุสัมปทาน 4-5 ปี เพื่อให้การบริหารพลังงานของประเทศได้อย่างมั่นคงและไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

โดยการประมูลดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมาธิการพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เสนอให้มีการใช้ระบบสัมปทานและระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศไทย ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติโดยคณะกรรมการปิโตรเลียมได้ทำการศึกษาและสรุปว่าการใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) มีความเหมาะสม สำหรับใช้ในการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ และบงกช ที่กำลังจะสิ้นสุดอายุสัมปทาน

ทั้งนี้ผู้รับสัมปทานรายเดิมสำหรับแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ คือ บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และสำหรับแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช คือ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ได้เข้าร่วมการประมูลทั้ง 2 แหล่งดังกล่าว ด้วย และผลการประมูลปรากฏว่า บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) เป็นผู้ชนะการประมูล ทั้ง 2 แหล่ง โดยมีข้อเสนอส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติจากราคาตามสัมปทานเดิมและส่วนแบ่งกำไรตามหลักการของสัญญาแบ่งปันผลผลิตเพิ่มเติม รวมมูลค่าถึงกว่า 6.5 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปีแรกของสัญญาแบ่งปันผลผลิต

เงื่อนไขสำคัญในการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แหล่ง ได้กำหนดให้ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต จะต้องดำเนินการต่าง ๆ ในระหว่างช่วงเตรียมการ (Transition Period) ตั้งแต่วันที่ลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตในปี 62 จนถึงวันที่สิ้นอายุสัมปทานและเริ่มการสำรวจและผลิตตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (วันที่ 23 เม.ย.65) เช่น การเจรจาข้อตกลงเข้าพื้นที่ และการเจาะหลุมเพื่อเตรียมการผลิตปิโตรเลียมเป็นการล่วงหน้า เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตปิโตรเลียมได้อย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนผู้ดำเนินงานในแปลง G1/61 จาก บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็น บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการเจรจาข้อตกลงการเข้าพื้นที่ ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ประสานงานเร่งรัดทั้ง 2 บริษัท ภายใต้กรอบของกฎหมายและอำนาจหน้าที่ที่สามารถกระทำได้ จนกระทั่งในเดือนธ.ค.64 ผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตจึงได้ลงนามข้อตกลงต่าง ๆ ทำให้ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสามารถเข้าไปดำเนินการต่าง ๆ และสามารถผลิตปิโตรเลียมได้อย่างต่อเนื่องหลังจากสิ้นอายุสัมปทาน (วันที่ 23 เม.ย.65) และสามารถรักษาระดับการผลิตได้ที่ 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งแม้จะไม่เป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้ แต่ก็จะเป็นเพียงช่วงเริ่มแรกของสัญญาฯ เท่านั้น โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ผลักดันให้ผู้รับสัญญาเร่งการดำเนินงาน และปรับแผนงานต่างๆ เพื่อให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ในขณะที่การผลิตปิโตรเลียมจากแปลง G2/61 (แหล่งบงกช) ซึ่งผู้ชนะการประมูลคือผู้ดำเนินงานรายเดิม (ปตท.สผ. อีดี) ยังคงสามารถผลิตปิโตรเลียมได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด และจะมีการเพิ่มการผลิตในปี 66 ด้วย

ส่วนในช่วงที่ยังไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ (แปลง G1/61) ได้อย่างเต็มกำลัง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้มีการเร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติเข้าระบบเพิ่มเติม ประกอบด้วยการเร่งรัดการลงทุนของผู้รับสัญญาในแปลง G1/61 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้เป็นไปตามเป้าโดยเร็ว การประสานผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญาในแหล่งอื่น ๆ ให้ผลิตอย่างเต็มความสามารถของแหล่ง การจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯ เพิ่มเติมในแหล่งที่มีศักยภาพ ได้แก่ แหล่งอาทิตย์ แปลง B8/32 และในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (แปลง B-17&C-19 และแปลง B-17-01) ตลอดจนส่งเสริมการสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มเติมเพื่อลดการนำเข้าพลังงาน

นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกับกระทรวงพลังงานประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเปลี่ยนให้ใช้น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา ทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ราคานำเข้า Spot LNG สูง และการเลื่อนกำหนดการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะ แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตราคาพลังงานโลก ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาพลังงานของไทย โดยเฉพาะค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในส่วนของ LNG นำเข้าและราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนมายังค่า FT และค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

สำหรับ กรณีข้อพิพาทการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมของแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณระหว่างรัฐบาลไทยและผู้รับสัมปทานรายเดิมซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เกิดจากความเห็นที่แตกต่างกันในการตีความข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฏหมายของผู้รับสัมปทานในการรื้อถอนฯ จึงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการเข้าพื้นที่ล่าช้าแต่อย่างใด เพราะการเข้าพื้นที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างผู้รับสัมปทานรายเดิมและผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต

ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐได้ดำเนินการทุกอย่างเกี่ยวกับกรณีพิพาทดังกล่าวภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการดูแลสิ่งแวดล้อมในการประกอบกิจการปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานต้องรับผิดชอบตามกฏหมาย ซึ่งรวมถึงการปิดและสละหลุมแบบถาวร โดยที่ผ่านมามีผู้ประกอบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ถือปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง ตามหลักการของผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมที่ดี อาทิ 1. ซิโน-ยู.เอส. ปิโตรเลียม อิงค์ 2. เอ็กซอน โมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ 3. เมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด 4. บริษัท บุษราคัม มโนรา จำกัด 5. บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ