แบงก์ชาติ ขีดกรอบประเดิมแจกไลเซ่นส์ Virtual Bank ไม่เกิน 3 เจ้า ทุนเริ่มต้น 5 พันล้าน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 12, 2023 11:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แบงก์ชาติ ขีดกรอบประเดิมแจกไลเซ่นส์ Virtual Bank ไม่เกิน 3 เจ้า ทุนเริ่มต้น 5 พันล้าน

การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่ไร้สาขาและให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล หรือ Virtual bank น่าจะจัดตั้งได้เร็วสุดภายในปี 67 และจะมีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตไม่เกิน 3 ราย จากการที่ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำหนดแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ในวันนี้

ธปท.ระบุว่า กระบวนการรับสมัครและคัดเลือก เริ่มจากการรับสมัคร จะเปิดให้ผู้ที่สนใจจัดตั้ง Virtual Bank สามารถหารือและยื่นคำขออนุญาตจัดตั้ง รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องมายัง ธปท.ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยหลักเกณฑ์การขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank มีผลบังคับใช้ จากนั้นจะคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำขอฯ และนำเสนอรายชื่อผู้เหมาะสมที่สุดต่อ รมว. คลัง พิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 3 เดือน

ในเบื้องต้นคาดว่าจะเสนอรายชื่อผู้ที่สมควรจะได้รับการพิจารณาให้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ต่อ รมว. คลัง จำนวนไม่เกิน 3 รายที่จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ Green Line ได้อย่างยั่งยืน รวมถึงเพื่อให้มีจำนวนผู้เล่นใหม่เข้ามาช่วยกระตุ้นการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินอย่างเหมาะสม ไม่มากเกินควรจนกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบสถาบันการเงิน หรือจนไม่สามารถกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551

ผู้ผ่านการคัดเลือกให้จัดตั้ง Virtual Bank จะต้องเริ่มเปิดดำเนินการภายใน 1 ปี โดย ธปท. จะตรวจสอบความพร้อมของ Virtual Bank ที่จัดตั้งใหม่ก่อนเสนอ รมว. คลัง พิจารณาให้ใบอนุญาตแก่ Virtual Bank เพื่อเริ่มเปิดดำเนินการ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันสมควร ธปท. อาจผ่อนผันให้ Virtual Bank เริ่มเปิดดำเนินการหลังจาก 1 ปีก็ได้

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น (consultation paper) เพื่อเปิดให้มีผู้ให้บริการ Virtual Bank ในช่วง 12 ม.ค.-12 ก.พ. 66 เพื่อสรุปแนวทางการขอจัดตั้งรอบสุดท้าย และเปิดให้ผู้สนใจยื่นจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ภายในไตรมาส 1/66

โดยให้เวลายื่นขอ 6 เดือน จากนั้น ธปท. และกระทรวงการคลังจะพิจารณา และประกาศรายชื่อผู้ได้รับความเห็นชอบให้จัดตั้งภายในไตรมาส 2/67 จำนวน 3 ราย เพื่อเตรียมความพร้อมและเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาส 2/68

"ในระยะแรกพิจารณาให้ไม่เกิน 3 รายก่อน ในอนาคตมีโอกาสเปิดเพิ่ม ต้องติดตามประเมินผล ไม่ได้อยากให้มีการแข่งขันเกินไป 3 รายกำลังพอดี การมีธนาคารใหม่ ธปท.ต้องเข้าไปกำกับดูแลใกล้ชิด ก็ต้องดูกำลังของเราด้วยว่าจะกำกับดูแลได้มากแค่ไหน ซึ่งพิจารณาแล้วว่า 3 ราย กำลังดี ซึ่งขณะนี้ มีผู้สนใจประมาณ 10 ราย จากหลายประเภทธุรกิจ"

สำหรับแนวทางสำหรับการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ดังนี้

1. สามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปได้

2.ผู้ขอจัดตั้ง จะต้องมีคุณสมบัติเหมาะสม เช่น มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท จะมารายเดียว ร่วมทุน หรือ ร่วมทุนต่างชาติก็ได้แต่ต้องมีสัดส่วนไม่เกิน 25% มีรูปแบบธุรกิจที่ตอบโจทย์เป้าหมายข้างต้นได้อย่างยั่งยืน มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย

3. ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การกำกับดูแลเช่นเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน โดย ธปท. จะกำกับพาณิชย์ไร้สาขา เข้มข้นกว่าปกติ และตามระดับความเสี่ยง ให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลและวัฒนธรรมด้านความเสี่ยง (risk culture) รวมถึงความต่อเนื่องในการให้บริการของระบบ IT ประสิทธิภาพในการดูแลลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น ระบบสามารถขัดข้องได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อปี และแก้ไขได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง และความเหมาะสมของการใช้บริการจากผู้ให้บริการภายนอก

4.ให้การดำเนินกิจการในช่วงแรกเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด (phasing) ในช่วง 3-5 ปีแรก เพื่อให้การดำเนินกิจการเป็นไปอย่างมั่นคงและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงิน แต่ถ้ารายใดสามารถดำเนินกิจการได้ไม่มีปัญหา ก็ขอออกจากระยะ phasing เพื่อ ดำเนินการเต็มรูปแบบได้ แต่ถ้ารายใดยังมีปัญหาก็จะขยายช่วง phasing ออกไป

หากพบว่ามีรายใดที่บริหารกิจการมีปัญหา ไม่สามารถแก้ไขได้ ก็ต้องเลิกกิจการตามแผน EXIT PLAN ที่ได้เสนอให้ ธปท. พิจารณาล่วงหน้า โดยเฉพาะกระบวนการดูแลลูกค้า กระบวนการเลิกกิจการ ก่อนที่ฐานะ หรือ ผลการดำเนินการย่ำแย่ จะได้มีเวลาดูแลลูกค้า ค่อย ๆ ย้ายลูกค้าไปให้สถาบันการเงินอื่น เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ขั้นตอน phasing เป็นขั้นตอนบริหารความเสี่ยงที่เข้มข้นมาก ถ้าไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ก็เข้าไปบริหารจัดการได้ ส่วนการยืนยันตัวตน KYC ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไปไม่ได้มีความแตกต่าง และป้องกันการเปิดบัญชีม้าได้ ซึ่งอาจต้องพิจารณารายละเอียดว่ามีจุดใดที่จะเพิ่มเติมบ้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ