ส.อ.ท.ฟันธง! อุตสาหกรรมไทยยังไปต่อ แม้มรสุมศก.รายล้อม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 17, 2023 13:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีทิศทางที่จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยกิจกรรมต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้การขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภค และการท่องเที่ยว กลับมามีสัญญาณที่ดีขึ้น

ขณะที่การส่งออกสินค้า แม้จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) ควบคู่กับการที่ภาครัฐเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี เพื่อเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ จะช่วยประคับประคองการส่งออกของไทยให้ยังทรงตัวต่อไปได้

รองประธาน ส.อ.ท.คาดว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะเติบโตได้ มีทั้งหมด 17 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม, การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, เครื่องจักรกลและโลหะการ, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, ดิจิทัล, น้ำตาล, ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์, ผู้ผลิตไฟฟ้า, พลังงานหมุนเวียน, เฟอร์นิเจอร์, ยา, ยานยนต์, โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, หล่อโลหะ, หลังคาและอุปกรณ์, เหล็ก, และอาหารและเครื่องดื่ม

โดยปัจจัยสนับสนุนหลัก มาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง, การส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง และมีการเปิดตลาดใหม่ๆ, ค่าเงินบาทกลับมาอยู่ในอัตราที่เหมาะสมกับทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้า, การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ มาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA)

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อ และต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง จากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ยังคงผันผวน, แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ, โอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในประเทศเศรษฐกิจหลัก, และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ผลจากสงครามการค้า (Trade War) และความรุนแรงของสงครามที่ขยายตัว

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะทรงตัว มีทั้งหมด 21 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซ, แก้วและกระจก, เครื่องจักรกลการเกษตร, เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น, เครื่องสำอาง,เซรามิก, ต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก, เทคโนโลยีชีวภาพ, น้ำมันปาล์ม, ปูนซีเมนต์, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, พลาสติก, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, ไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น, ยาง, เยื่อและกระดาษ, รองเท้า, สิ่งทอ, หัตถกรรมสร้างสรรค์, อลูมิเนียม, และ อัญมณีและเครื่องประดับ

โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน จากอานิสงส์ของอุปสงค์ที่อั้นมานานในช่วงที่ผ่านมา (Pent-Up Demand) ของนักท่องเที่ยวประกอบกับจีนเริ่มเปิดประเทศ จะเป็นแรงส่งให้การท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวกลับไปใกล้ระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งค่าเงินบาทกลับมาอยู่ในอัตราที่เหมาะสมกับทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้า, การส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังต้องรักษาแรงขับเคลื่อนในด้านการส่งออกควบคู่ไปกับรักษาระดับการจ้างงานในภาคการผลิต เพื่อให้สามารถช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจต่อไปได้ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และมีการเปิดตลาดใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นตลาดที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดี

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งจะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่อัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 13% จากงวดก่อน, โอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป และจีน

นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการและประชาชน โดยเฉพาะต้นทุนการกู้ยืม และฐานะการเงินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน, ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ, ผลจากสงครามการค้า (Trade War) รวมทั้งปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต และประสิทธิภาพแรงงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ