ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 33.09/10 อ่อนค่า รีบาวน์ระยะสั้น คาดกรอบพรุ่งนี้ 32.90-33.20

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 17, 2023 17:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 33.09/10 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่า จากเปิดตลาดเมื่อเช้าที่ระดับ 33.01 บาท/ดอลลาร์

เย็นนี้เงินบาทปรับอ่อนค่าจากช่วงเช้า โดยระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00 - 33.16 บาท/ดอลลาร์ แต่ยังไม่มีปัจจัยใหม่ เนื่องจากตลาดเงินและตลาดหุ้นฝั่งสหรัฐฯ ปิดทำการเนื่องในวันมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ด้านสกุลเงินใน ภูมิภาคยังทรงตัวจากช่วงเช้า

"วันนี้เงินบาทอ่อนค่าจากเมื่อวาน วิ่งในกรอบ อาจเป็นการรีบาวด์ระยะสั้น หลังจากที่แข็งค่าลงมาแรง" นักบริหาร
เงิน กล่าว

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะเปิดเผยคืนนี้ คือ ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนม.ค.จากเฟดนิวยอร์ก

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 32.90 - 33.20 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 128.73/78 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้านี้ที่ระดับ 128.82 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0816/0820 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้านี้ที่ระดับ 1.0819 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,681.04 จุด ลดลง 3.82 จุด (-0.23%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 54,484 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 825.17 ลบ. (SET+MAI)
  • ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 5 บาทออกไปอีก 4 เดือน สิ้นสุด
20 พ.ค. 66 เพื่อตรึงราคาไม่ให้เกินลิตรละ 35 บาทต่อไป โดยคาดว่าภาครัฐจะสูญเสียรายได้ราวเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนธ.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 92.6 ลดลงจากเดือนพ.ย. ซึ่งอยู่ที่ระดับ 93.5
โดยเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 7 เดือน จากปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ภาคการผลิตชะลอลง เนื่องจากเดือนธ.ค. มีวันทำงานน้อย
และมีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลปีใหม่, ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า, การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคาร
พาณิชย์, ปัญหาเงินเฟ้อที่บั่นทอนกำลังซื้อในประเทศ และการส่งออกที่มีสัญญาณชะลอตัว
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยกิจกรรมต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้
การขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภค และการท่องเที่ยวกลับมามีสัญญาณที่ดีขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้า แม้จะมีแนวโน้ม
ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) ควบคู่กับการที่ภาครัฐเร่งเจรจา
ความตกลงการค้าเสรี เพื่อเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ จะช่วยประคับประคองการส่งออกของไทยให้ยังทรงตัวต่อไปได้
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี 2565 ของจีนขยายตัว
3% ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าอาจจะขยายตัว 2.8% อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนในปี 2565 ชะลอตัวลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี
2564 ที่มีการขยายตัว 8.4%
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เผยยอดค้าปลีกเดือนธ.ค. 2565 ปรับตัวลง 1.8% ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาด
ว่าอาจร่วงลง 8.6% และตลอดปี 2565 ยอดค้าปลีกปรับตัวลง 0.2%
  • จำนวนประชากรจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ทศวรรษในปี 2565 โดยอัตราการเกิดของประเทศร่วงสู่ระดับต่ำ
สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้เกิดความกังวลว่า วิกฤตด้านประชากรมีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจจีนที่เติบโตในอัตราที่ชะลอ
ตัวลงอยู่แล้ว
  • ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PwC) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของบรรดาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ทั่ว
โลก พบว่า ซีอีโอส่วนใหญ่ (73%) ที่เข้าร่วมการสำรวจในครั้งนี้คาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก จะชะลอตัวลงในปี
2566 ซึ่งถือเป็นมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ PwC เริ่มทำผลสำรวจในปี 2554
  • กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยว่า ช่วงเวลาที่ IMF ต้องลดคาดการณ์การเติบโต
ทางเศรษฐกิจโลกเป็นประจำเช่นที่แล้วมานั้น ใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว
  • หน่วยงานกำกับดูแลและสมาคมตลาดตราสารหนี้หลายแห่ง เปิดเผยว่า ตลาดพันธบัตรเอเชียไม่รวมจีน (Asia

ex-China bonds) เผชิญกระแสเม็ดเงินต่างชาติไหลออกสุทธิเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีในปี 2565 หลังธนาคารกลางหลาย

ประเทศเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุก เพื่อสกัดเงินเฟ้อ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ