ปธ.FETCO ถอดโจทย์พลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วย New Wave เลขาฯบีโอไอปัก 7 หมุดหมายดึงเม็ดเงินต่างชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 14, 2023 14:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยในงานเสวนา "ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน พลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจใหม่" ว่า ความหวังของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในปี 66 ต้องอาศัยหลายปัจจัยเข้ามาสนับสนุน ซึ่งมองอันดับ 1 คือ การท่องเที่ยว จากจีนเปิดประเทศจะช่วยให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นแตะ 25-28 ล้านคน เมื่อเทียบกับ 11 ล้านคนในปีก่อน

อันดับ 2 คือ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินจากการลงทุนจากต่างประเทศ โดยจะเห็นได้ว่าในปีที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท บีวายดี ออโต้อินดัสทรี จำกัด (BYD), Amazon Web Services (AWS), SONY Group และประเทศไต้หวันบางกลุ่ม ได้ประกาศย้ายฐานการผลิตมาไทยแล้ว

"จากสิ่งที่เกิดขึ้น มองว่าประเทศไทยต้องการ New Wave การลงทุนรอบใหม่ ซึ่งจะลงทุนรอบใหม่ได้อย่างไร จะพลิกโฉมไทยสู่เศรษฐกิจใหม่ได้อย่างไร ถือเป็นโจทย์ที่สำคัญของผู้ขับเคลื่อนนโยบายหลักของเมืองไทย"นายกอบศักดิ์ กล่าว

ขณะที่นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ BOI กล่าวว่า BOI ได้กำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) มุ่งส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ "เศรษฐกิจใหม่" ด้วย 7 หมุดหมายแห่งอนาคต ประกอบด้วย

1. ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีความโดดเด่น เช่น เกษตร ไปสู่ Smart Farming, Plant Factory, อาหาร ไปสู่ High value Food เช่น Alternative Protein, ท่องเที่ยว ไปสู่ Affluent, Long-term, Medical/Wellness , ยานยนต์ ไปสู่ Electric Vehicles (EV), อิเล็กทรอนิกส์ ไปสู่ Upstream & Smart Electronics, ปิโตรเคมี/เคมีภัณฑ์ ไปสู่ Bio-based, Specialty, CCUS, พลังงาน ไปสู่ Renewable Energy, Hydrogen, สิ่งทอและแฟชั่น ไปสู่ Functional Textile, ODM/OBM

ควบคู่กับการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยมีศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งให้กับ Supply Chain ได้แก่ สุขภาพและการแพทย์ (Healthcare & Medical ) ดิจิทัล (Digital) ระบบอัตโนมัติ/หุ่นยนต์ (Automation/Robotics) อากาศยานและอวกาศ (Aerospace) ป้องกันประเทศ (Defense) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative & Soft Power)

2. เร่งเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่ Smart & Sustainable ทั้งการลงทุนใหม่ และยกระดับผู้ประกอบการเดิม

3. ผลักดันให้ไทยเป็น ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ และ ประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค

4. ส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ให้เข้มแข็งและเชื่อมต่อกับโลก

5. ส่งเสริมการลงทุนตามศักยภาพของพื้นที่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง

6. สนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริม ด เนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม

7. ส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ และเพิ่มบทบาทไทยในเวทีโลก

อีกทั้งยังกำหนด 9 มาตรการส่งเสริมการลงทุน ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ (มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.66 เป็นต้นไป) ได้แก่

1. มาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

2. มาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

3. มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิตเดิม (Retention & Expansion Program)

4. มาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร (Relocation Program)

5. มาตรการกระตุ้นการลงทุนในระยะฟื้นฟูเศรษฐกิจ

6. มาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart & Sustainable Industry)

7. มาตรการส่งเสริมการลงทุน SMEs

8. มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย

9. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม

นายนฤตม์ มั่นใจว่าด้วยยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนของ BOI จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็จะไม่กระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม คาดว่าจะยังมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง หลังจากปีก่อนยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนเติบโตทั้งจำนวนโครงการ เพิ่มขึ้น 41% คิดเป็น 2,119 โครงการ และเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 39% คิดเป็น 664,635 ล้านบาท ขณะที่การอนุมัติโครงการส่งเสริมลงทุน เพิ่มขึ้น 1% คิดเป็น 1,554 โครงการ และเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 21% คิดเป็น 618,615 ล้านบาท รวมถึงการออกบัตรส่งเสริม จำนวนโครงการ เพิ่มขึ้น 96% คิดเป็น 1,490 ล้านบาท และเงินลงทุน เพิ่มขึ้น 21% คิดเป็น 489,088 ล้านบาท

BOI เชื่อว่าภาคธุรกิจจีนจะให้ความสนใจเข้ามาลงทุนย้ายฐานการผลิตมาในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งในปีที่ผ่านมา พบว่า ธุรกิจจากจีนเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นอันดับ 1 คิดเป็น 18% ของมูลค่า FDI ทั้งหมด ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็ยังคงใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และการแปรรูปอาหาร

ส่วนนักลงทุนรายใหม่ๆ อย่างสหรัฐ จากการไปโรดโชว์ในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าทุกรายมองเห็นโอกาส ส่งผลให้ Amazon Web Services (AWS) ประกาศลงทุน 1.9 แสนล้านบาทในช่วง 15 ปีข้างหน้า และ Google ยังประกาศลงทุน Cloud Region ในประเทศไทยเป็นแห่งที่ 3 ของภูมิภาค คาดว่าจะเห็นความชัดเจนเร็วๆนี้ สะท้อนถึงความมั่นใจของบริษัทเทคที่มองไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคที่จะเข้ามาลงทุนในอนาคต

นอกจากนี้อิเล็กทรอนิกส์ก็เช่นเดียวกัน เพราะไทยถือเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ บริษัทจากอเมริกายังคงยืนยันขยายการลงทุนต่อเนื่อง ประเทศยุโรปเองก็เช่นเดียวกัน โดยในกลุ่มของรถยนต์จากค่ายใหญ่ๆ ก็มีเป้าหมายขยายสู่อุตสาหกรรม EV และ BOI ก็มีความพยายามที่อยากจะดึงรถยนต์ค่ายใหม่ๆ เข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ