ดัชนี MPI ม.ค.หดตัว 4.35%YoY หลังอุปสงค์ตปท.อ่อนแอกระทบส่งออกไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 28, 2023 11:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ม.ค. 66 อยู่ที่ 99.82 หดตัว 4.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยเป็นการหดตัวอย่างต่อเนื่องตามคาดการณ์ แต่ขยายตัว 6.61% เมื่อเทียบจากเดือนก่อน

ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ในเดือนม.ค. อยู่ที่ 62.31% เพิ่มขึ้นจาก 59.56% ในเดือน ธ.ค. 65 โดยทั้งปี 65 เฉลี่ยอยู่ที่ 62.76

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนม.ค. 66 หดตัว คือ อุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอลง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางโดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว หลายอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี โดยอุตสาหกรรมหลักที่ขยายตัวในเดือนม.ค. ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม จากการเดินทางที่ขยายตัวขึ้นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและการเดินทางในเทศกาลปีใหม่, ยานยนต์ จากรถยนต์นั่งขนาดกลางและรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ตลาดส่งออกขยายตัว และน้ำมันปาล์ม จากปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดจำนวนมากกว่าปีก่อน และการส่งออกที่ขยายตัว

*คาดดัชนี MPI เดือนก.พ. หดตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนก.พ. 66 จะหดตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยสำคัญ คือ อุปสงค์สินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอตัว จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญของโลกทั้งยุโรป และสหรัฐฯ ขณะที่ฐานเปรียบเทียบในปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มกลับมา หลังการระบาดของโควิดมีทิศทางที่คลี่คลาย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในประเทศยังได้รับปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวต่างชาติ และมาตรการรัฐกระตุ้นการใช้จ่าย ช่วยประคองเศรษฐกิจในภาพรวม และชดเชยการชะลอตัวของภาคส่งออก

*ปรับประมาณการ MPI และ GDP ภาคอุตฯ ปี 66

เนื่องจากคาดการณ์ว่าการส่งออกจะชะลอตัว สศอ. จึงได้ปรับประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 66 คาดว่าขยายตัวอยู่ที่ 1.5-2.5% และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม ปี 66 ขยายตัวอยู่ที่ 1.5-2.5% จากเมื่อเดือนธ.ค. 65 ที่ประมาณการ MPI ปี 66 และ GDP ภาคอุตสาหกรรม ปี 66 จะขยายตัวที่ 2.5-3.5%

  • ปัจจัยกระทบภาคอุตสาหกรรม

สำหรับ 4 ปัจจัยหลักที่กระทบภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ 1. ราคาพลังงานอยู่ในระดับสูง (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) 2. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น ตามต้นทุนการผลิต เนื่องจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นและการขาดแคลนวัตถุดิบประกอบการผลิต 3. ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก เกิดปัญหาคอขวด เมื่อขาดปัจจัยการผลิตและเส้นทางการค้าถูกสกัดกั้นในอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกัน และ 4. อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาพลังงาน

ส่วนความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ครบรอบ 1 ปี (วันที่ 24 ก.พ. 66) ในภาพรวมการค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย-ยูเครนที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบด้านการค้าน้อย เนื่องจากมูลค่าการค้ารวม (การส่งออกและนำเข้า) มีสัดส่วนน้อย ประมาณ 0.5% เมื่อเทียบกับการค้าทั้งหมด

แต่ส่วนใหญ่ไทยได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ในตลาดโลก ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเป็นวงกว้างทั่วโลก โดยเฉพาะด้านราคาพลังงาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ความเชื่อมั่นต่อบรรยากาศการค้า และการลงทุน

อย่างไรก็ดี ในภาพรวมความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังคงยืดเยื้อ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยมีแนวทางการปรับตัว ดังนี้

  • การแสวงหาหุ้นส่วนของห่วงโซ่อุตสาหกรรมเพิ่มเติม เพื่อหาวิธีลดต้นทุนร่วมกัน (Cost Sharing) เช่น การลงนามความร่วมมือ (MOU) เพื่อการแลกเปลี่ยนทางการค้าที่ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย เช่น การหาประเทศที่เป็นมิตรต่อกัน เพื่อลดการพึ่งพิงประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป
  • การแสวงหาพันธมิตรทางการค้าใหม่และขยายช่องทางการตลาด โดย 1. แสวงหาพันธมิตรทางการค้าเพิ่มเติม โดยเฉพาะในตลาดที่มีศักยภาพ เช่น เอเชียใต้ ทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง และ 2. ขยายช่องทางการตลาดเพิ่มเติมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แอปพลิเคชันต่างๆ รวมทั้งสื่อดิจิทัล มีส่วนช่วยโปรโมทสินค้าได้ง่ายขึ้น ช่วยให้การทำการตลาดผ่านสื่อออนไลน์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง

สำหรับประเด็นที่ควรเฝ้าระวัง คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ทำให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหดตัว ประกอบกับค่าพลังงานชะลอตัวลงแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากการที่ประเทศต่างๆ เปิดประเทศโดยเฉพาะจีน ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติ ส่งผลให้ความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับกลุ่มโอเปกลดกำลังการผลิตลง 2 ล้านบาร์เรล/วัน หรือประมาณ 2% ของความต้องการใช้ทั่วโลก ตั้งแต่เดือนพ.ย. 65 จนถึงสิ้นปี 66

อีกทั้ง อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง กดดันการบริโภคในประเทศ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยมีการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจาก 27 ล้านคน เป็น 30 ล้านคน หลังจากจีนเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดการณ์ จากตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวโดยเฉพาะภาคบริการ

ขณะที่มาตรการภาครัฐที่กระตุ้นการใช้จ่าย เช่น ช้อปดีมีคืน (ลดหย่อนภาษี 40,000 บาท คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นประมาณ 0.16% เมื่อเทียบกับไม่มีโครงการดังกล่าว) และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน (5.6 แสนสิทธิ)

นอกจากนี้ ปีนี้ยังมีการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 7 พ.ค. 66 โดยเชื่อว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 6-7 หมื่นล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ