เงินเฟ้อไทย ก.พ.ชะลอตัวต่อเนื่อง ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 7, 2023 11:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนก.พ.66 อยู่ที่ระดับ 108.05 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้น 3.79% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากเดือนม.ค.66 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงมาจากราคาพลังงาน และอาหารสดที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.) เพิ่มขึ้น 4.40%

"เงินเฟ้อชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไป ชะลอตัวลงเข้าใกล้กรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 2-3% ในปีนี้" นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนก.พ. อยู่ที่ระดับ 104.17 ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้น 1.93% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.48%

โดยอัตราเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มเป็นขาลง พร้อมคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 1/66 จะเพิ่มขึ้นไม่เกินระดับ 4%

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์จะมีการปรับประมาณการเงินเฟ้อของปี 66 ใหม่อีกครั้งในการแถลงเดือนหน้า เนื่องจากสมมติฐานสำคัญมีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ, อัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมันในตลาดโลก ในขณะที่ปัจจุบันให้กรอบเงินเฟ้อไว้ที่ 2.0-3.0%

"ตอนนี้เราติดตามอยู่ โดยเฉพาะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งล่าสุดอยู่ในช่วง 34-35 บาท/ดอลลาร์ เพราะเป็นปัจจัยหลักจาก 1 ใน 3 ตัวของสมมติฐาน ซึ่งมีผลต่อการนำเข้าราคาพลังงานค่อนข้างมาก และมีผลต่อการคำนวณ CPI เพราะถ้าบาทอ่อนมากๆ ต้นทุนการนำเข้าน้ำมัน และวัตถุดิบอื่นๆ ก็จะสูงตามไปด้วย" นายพูนพงษ์ ระบุ

ด้านนายวิชานัน นิวาตจิต รองผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การที่อัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ.66 ชะลอตัวลง มีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาอาหารบางประเภท โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปและอาหารสด ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในปี 2565 อยู่ในระดับสูง มีส่วนทำให้เงินเฟ้อขยายตัวไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อของไทยยังมีความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และภัยแล้งทั้งในและต่างประเทศที่อาจจะส่งผลต่อราคาพลังงานและอาหาร ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อในต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนม.ค.66) จะพบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำ เป็นอันดับที่ 29 จาก 139 ประเทศที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี เม็กซิโก อินเดีย และเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศในอาเซียน เช่น ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

นายวิชานัน กล่าวว่า ในเดือนก.พ.66 มีสินค้าและบริการสำคัญที่ราคาลดลง 45 รายการ เช่น น้ำมันพืช ผักชี ผักคะน้า พริกสด ขิง มะพร้าว ค่าสมาชิกเคเบิ้ลทีวี เครื่องรับโทรทัศน์เป็นต้น ส่วนสินค้าและบริการสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น 334 รายการ เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม อาหารสำเร็จรูป ไข่ไก่ กระเทียม มะนาว เป็นต้น ส่วนสินค้าและบริการสำคัญที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 51 รายการ เช่น ค่าเบี้ยประกัน ค่าน้ำประปา ค่าบริการขนขยะ รองเท้า นิตยสารรายเดือน รองเท้าสตรี เป็นต้น

*แนวโน้มมี.ค.ชะลอต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนมี.ค.66 คาดว่าจะชะลอตัวลง ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดหลายรายการที่คาดว่าจะลดลงต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับฐานราคาในเดือนมีนาคม 2565 ค่อนข้างสูง การส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มลดลงตามอุปสงค์โลก และการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ซึ่งจะกดดันต่อการขยายตัวของเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้าที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา ราคาก๊าซหุงต้มที่ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมี.ค. การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการยังคงขยายตัวได้ดี จะส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอตัวไม่มากนัก

"เงินเฟ้อเดือนมี.ค. คาดว่าจะชะลอตัวลง แต่อาจจะลงไปจากเดือนก.พ.ไม่ได้มากนัก เพราะค่าไฟฟ้ายังสูง รวมทั้งมีการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม" รองผู้อำนวยการ สนค.ระบุ

*คาด H2/66 มีโอกาสเห็นใกล้เคียง 0%

พร้อมคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีโอกาสจะได้เห็นเงินเฟ้อลดลงไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ 0% เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อน รวมทั้งหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างมาก ก็อาจจะเห็นเงินเฟ้อติดลบได้ในบางเดือนของช่วงครึ่งปีหลังนี้

นายวิชานัน กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 66 อยู่ระหว่าง 2.0 - 3.0% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน แต่เนื่องจากสมมติฐานที่เคยประมาณการไว้เดิมมีการเปลี่ยนแปลงไป ก็คาดว่าในเดือนหน้า กระทรวงพาณิชย์จะปรับกรอบเงินเฟ้อใหม่อีกครั้ง

"เดิมเราใช้สมมติฐานเมื่อเดือนพ.ย.65 โดยคาด GDP ปีนี้โต 3-4% น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 85-95 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 36-37 บาท/ดอลลาร์ แต่คงต้องปรับสมมติฐานใหม่ เพราะตอนนี้ สมมติฐานทุกตัวมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่ก็ยังเชื่อว่ากรอบเงินเฟ้อน่าจะยังอยู่ในกรอบนี้ เพียงแต่จะปรับกรอบให้แคบลง คงต้องขอเวลาอีก 1 เดือน รอดูความผันผวนของราคาน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยน" นายวิชานัน ระบุ

สำหรับเม็ดเงินจากช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมี.ค.-พ.ค.นี้ นายวิชานัน กล่าวว่า เม็ดเงินที่จะสะพัดจากช่วงเลือกตั้งในปีนี้ สนค.ได้รวมไว้อยู่ในประมาณการเงินเฟ้อของปี 66 แล้ว ส่วนจะส่งผลต่อเงินเฟ้อมากน้อยเพียงใดนั้น คงไม่สามารถตอบได้ชัดเจน เพราะต้องขึ้นอยู่กับว่าจะใช้เงินมากน้อยแค่ไหน แต่เบื้องต้นมองว่าเม็ดเงินจะลงไปในส่วนของภาคการผลิตโดยตรง เช่น การพิมพ์โปสเตอร์ แผ่นพับ ป้ายหาเสียง รวมถึงภาคแรงงาน ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อกำลังซื้อในระยะสั้นๆ เท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ