ดัชนีค้าปลีก Q1/66 "น่ากังวล" ลดต่อเนื่อง 3 เดือน กำลังซื้อซบเซา ฝากรบ.ใหม่เร่งกระตุ้นศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 5, 2023 12:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีค้าปลีก Q1/66

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 พบว่า ลดลง 13.5 จุด แม้จะมีปัจจัยบวกหลากหลาย อาทิ วันหยุดในช่วงเทศกาลปีใหม่-ตรุษจีน มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ "ช้อปดีมีคืน" รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นแต่ยังไม่สามารถส่งแรงหนุนได้มากพอ เนื่องจากกำลังซื้อฐานรากที่อ่อนแอชัดเจน,ต้นทุนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูง, ค่าสาธารณูปโภค

ขณะที่ดัชนี RSI ระยะ 3 เดือนจากนี้ (เม.ย.-มิ.ย.) ทรงตัว สะท้อนถึงความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์หลังการเลือกตั้งซึ่งส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของธุรกิจต้องใช้เวลานานขึ้น รวมทั้งค่าแรงและค่าครองชีพที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับกำลังซื้อที่ยังซบเซา

ดัชนีค้าปลีก Q1/66

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกทั่วประเทศ (Retail Sentiment Index ?RSI) ในภาพรวมพบว่า ดัชนี RSI (QoQ) ไตรมาสหนึ่ง 2566 เมื่อเทียบกับไตรมาสสี่ 2565 มีความ "น่ากังวล" เนื่องจากปรับลดลงถึง 13.5 จุด

ในขณะที่ดัชนียอดขายสาขาเดิม SSSG (Same Store Sale Growth) QoQ ,ยอดใช้จ่ายต่อครั้ง (Spending Per Bill หรือ Per Basket Size) และความถี่ในการจับจ่าย (Frequency on Shopping) ต่างพากันปรับตัวลดลงสะท้อนถึงผู้บริโภคฐานราก กำลังซื้อยังอ่อนแออยู่มากรวมทั้งภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าโดยสารส่งผลให้ผู้บริโภคมุ่งเน้นซื้อสินค้าที่จำเป็น อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่ผู้บริโภคลดกิจกรรมนอกบ้านเพิ่มขึ้น ด้วยความกังวลฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นและโรคฮีทสโตรกหรือโรคลมแดดจากอากาศที่ร้อนจัด

โดยเมื่อพิจารณาดัชนีตามภูมิภาคพบว่าความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิมทรงตัวทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคอีสานที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด บ่งบอกถึงธุรกิจยังคงฟื้นตัวไม่สมดุล เห็นได้ว่าพื้นที่ท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าพื้นที่อื่น ทางด้านธุรกิจห้างสรรพสินค้า, แฟชั่น, สุขภาพและความงาม มีการฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ ส่วนร้านสะดวกซื้อ, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง มีการชะลอตัว และร้านค้าส่ง ไฮเปอร์มาร์เก็ตยังคงไม่ฟื้นตัว

ทางสมาคมฯ จึงมีความเห็นว่าหลังการเลือกตั้ง ควรรีบจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วเพื่อเร่งกำหนดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบผ่านการสร้างงาน การจ้างงาน และลดภาระค่าครองชีพซึ่งต้องมีมาตรการหลากหลาย มุ่งเป้าให้ตรงกลุ่มต่างๆ ไม่ซ้ำซ้อนเน้นการเพิ่มกำลังซื้อแก่ผู้บริโภคฐานรากที่ยังอ่อนแอเพื่อกระตุ้นการจับจ่าย ในขณะที่ผู้บริโภคระดับบน, ผู้มีรายได้ประจำที่มีกำลังซื้อต้องใช้มาตรการต่างชุดกัน โดยเน้นย้ำว่ารัฐต้องคลอดมาตรการที่ต่อเนื่องและระยะยาวจนกว่าจะเห็นการฟื้นตัวของธุรกิจที่ชัดเจน

"สรุปภาพรวมการค้าปลีกไทย มีการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน (K-Shaped Recovery) กำลังซื้อโดยรวมยังเปราะบาง โดย เฉพาะกลุ่มฐานรากที่อ่อนแอ ปัญหาค่าแรงแพง และแรงงานขาดแคลน นับเป็นปัญหาหลักของภาคค้าปลีกและบริการ รัฐบาลใหม่จึงต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องการเพิ่มรายได้ของกลุ่มฐานราก และเพิ่มการใช้จ่ายของกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง โดยการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายและท่องเที่ยวภายในประเทศ ด้วยการร่วมมือกับทุกภาคส่วนช่วยกันขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เพื่อผลักดันภาพรวมของค้าปลีกไทยกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง" นายฉัตรชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ