คปภ.เล็งขยายโครงการประกันพืชผลจากภัยแล้งไปสู่พื้นที่เพาะปลูกข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 24, 2008 18:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)เปิดเผยว่า คปภ.ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัย, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มกลุ่มสินค้าเข้ามาในโครงการประกันภัยพืชผลจากภัยแล้ง เช่น พื้นที่เพาะปลูกข้าว จากปัจจุบันที่มีการรับประกันข้าวโพด ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้เร็วๆ นี้
"หากดำเนินการได้เร็วจะช่วยลดความเสี่ยงให้กับชาวนาได้ เพราะหากในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการประสบปัญหาภัยแล้ง และเครื่องชี้วัด(ดัชนีน้ำฝน) บ่งบอกว่าเข้าเกณฑ์แล้งและผลผลิตเสียหายตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ บริษัทประกันภัยก็จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรทันที" นางจันทรา กล่าว
ก่อนหน้านี้ คปภ.ได้ร่วมกับทั้ง 3 หน่วยงานเปิดตัวโครงการประกันภัยพืชผลจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีน้ำฝนไปแล้วในสินค้าข้าวโพด ในพื้นที่เพาะปลูก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.สนใจซื้อประกันภัยมากกว่า 35 ราย รวมพื้นที่เพาะปลูก 962 ไร่ในฤดูเพาะปลูกปีแรกปี 50 รวมเบี้ยประกันภัย 89,030 บาท วงเงินคุ้มครอง 1,331,900 บาท ระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.-13 ต.ค.50 แต่ปรากฏว่าภัยแล้งไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวจึงไม่มีการจ่ายค่าเสียหายให้
นางจันทรา กล่าวว่า ปีนี้ คปภ.ขยายพื้นที่รับประกันตามโครงการดังกล่าวในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพด 4 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์, ลพบุรี, นครสวรรค์ และนครราชสีมา เริ่มเปิดรับประกันและจำหน่ายกรมธรรม์ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.51
กรมธรรม์มีให้เลือก 2 แบบ แบบที่ 1 ระยะเวลาคุ้มครอง 3 ระยะคือ ช่วงเพาะปลูก(30 วัน), ช่วงเติบโต(20 วัน) และช่วงออกดอกออกผล(30 วัน) เบี้ยประกันภัย 114 บาท/ไร่ ค่าชดเชยสูงสุดต่อไร่ 1,000-1,700 บาท ส่วนแบบที่ 2 เบี้ยประกันภัย 80 บาท/ไร่ ค่าชดเชยสูงสุดต่อไร่ตั้งแต่ 700-1,200 บาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ