ศูนย์วิจัยกสิกรฯ หั่น GDP ไทยปีนี้เหลือโต 3.0% จากเดิม 3.7% ส่งออกหดตัวกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 26, 2023 10:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ หั่น GDP ไทยปีนี้เหลือโต 3.0% จากเดิม 3.7% ส่งออกหดตัวกว่าคาด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 66 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จากก่อนหน้านี้ที่ 3.7% แม้ความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้นหลังจากประเทศไทยมีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จแล้ว แต่เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังคงเผชิญกับปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์อยู่

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตต่ำกว่าคาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 66 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จาก 3.7% จากการที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยว ที่มองว่าจะเข้ามาเพียง 27.6 ล้านคน จากเดิมที่คาดว่าจะเข้ามา 28.5 ล้านคน ในปี 66 และการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะหดตัวมากกว่าเดิมที่ 2.5% มากกว่าที่เคยประเมินไว้ว่าจะหดตัว 1%

"ปรับลด GDP อยู่ที่ 3.0% เนื่องจากส่งออกลดลง เงินเฟ้อลดลง แต่ราคาน้ำมันขึ้นทั้งปีเฉลี่ย 84 เหรียญ/บาร์เรล ปลายปีอาจทะลุ 100 เหรียญ/บาร์เรล ได้ ส่วนปัจจัยสำคัญ คือนักท่องเที่ยวลดลง การท่องเที่ยวไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน แม้จะมีมาตรการวีซ่าฟรี แต่คาดว่าจะเห็นผลชัดเจนในช่วงตรุษจีนปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้นดี จึงคาดการณ์ว่า ปีนี้นักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยน่าจะไม่ถึง 4 ล้านคน น่าจะอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านคนกว่าๆ" นายบุรินทร์ กล่าว
*หนี้เสียเพิ่ม โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อรถยนต์

นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศยังคงได้รับผลจากการที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงภาคการผลิตที่ยังชะลอต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะแนวโน้มการเร่งตัวของหนี้รหัส 21 หรือหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแออยู่ สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวต่อเนื่อง และเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับตัวต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

"หนี้รถยนต์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ต้องจับตาว่ารัฐบาลจะช่วยหนี้ในส่วนนี้หรือไม่ ขณะที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นมาก ประเทศอื่นเป็น V-shape แต่ของไทยเหมือนเครื่องหมายถูก สะท้อนว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอาจต้องการเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ๆ เข้ามาช่วยฟื้น อาทิ Data Center" นายบุรินทร์ กล่าว

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 27 ก.ย. นี้ จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ

"ธปท. อาจทิ้งทางเลือกไว้ว่า อาจสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ในอนาคต ถ้า ธปท. กังวลว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในปี 67 อาจทำให้เกิดเงินเฟ้อได้ ดังนั้น ธปท. อาจไม่จบวงจร แต่อาจมีการ Wait and See ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจเพิ่มขึ้น" นายบุรินทร์ กล่าว
*เงินบาทแนวโน้มอ่อนค่าในระยะสั้น

ขณะที่ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อเนื่องในระยะสั้น คาดแนวโน้มอยู่ที่ 36.30-36.60 บาท/ดอลลาร์ จากแนวโน้มส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐกับไทยที่จะอยู่ในระดับสูงอีกสักระยะ

"เงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 36.40 บาท/ดอลลาร์ มีแนวโน้มอ่อนค่าในระยะสั้น เนื่องจากส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสองปีของไทยและสหรัฐฯ กว้างขึ้นต่อเนื่อง ถ้า ธปท. ไม่ขึ้นดอกเบี้ย ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าตามเงินหยวน ซึ่งเงินหยวนก็มีแนวโน้มอ่อนค่าไปมากกว่านี้ จากปัญหาอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่สูง ก็กดดันเงินบาทด้วย" นายบุรินทร์ กล่าว

นายบุรินทร์ กล่าวว่า ในส่วนของอันดับความน่าเชื่อถือ ขณะนี้ประเทศไทยน่าจะยังรักษาอันดับความน่าเชื่อถือเอาไว้ได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต กับการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐบาลในระยะต่อไป

"ระดับหนี้ในปัจจุบันยังต่ำกว่าเพดานหนี้สาธารณะพอสมควร ตอนนี้หนี้อยู่ที่ 61.7% ปีหน้าอาจขึ้นมาแตะ 65% ขยับเข้าใกล้หนี้สาธารณะ อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับวินัยทางการคลัง และความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ถ้ารัฐบาลมีรายจ่ายเพิ่ม แต่ก็มีรายได้เพิ่มด้วย นโยบายสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง คนก็จะคลายกังวลมากขึ้น" นายบุรินทร์ กล่าว

นายบุรินทร์ กล่าวว่า ในบริบทที่การค้าโลกมีนโยบายกีดกันการค้าที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมาในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นด้วย แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่ได้รับอานิสงส์เท่าที่ควร โดยการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาแทบไม่เปลี่ยนแปลง และ FDI น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

*คาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหนุน GDP ปี 67 เพิ่ม 1%

สำหรับนโยบายที่รัฐบาลประกาศไว้และจะดำเนินการเพิ่มเติม โดยเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น หรือใช้มาตรการ Quick Win ผ่านการลดค่าครองชีพ การพักหนี้ และเงินดิจิทัล คาดว่าจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้จำกัดในปี 66 แต่คงจะช่วยลดเงินเฟ้อและค่าครองชีพของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง แต่น่าจะเห็นผลบวกชัดขึ้นในช่วงต้นปี 67 โดยเฉพาะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่ต้องจับตารายละเอียด และความชัดเจนของนโยบาย รวมถึงที่มาของงบประมาณ และความโปร่งใสของการใช้เงิน

"การใช้งบ 5.6 แสนล้านบาท (คิดเป็นประมาณ 3% ของ GDP) เพื่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ได้ผิดหลักการ แต่มีคำถามว่าควรใช้เฉพาะกลุ่มหรือไม่ และจะเป็นภาระงบประมาณหรือไม่ ต้องติดตามว่าสุดท้ายแล้วนโยบายจะมีรายละเอียดอย่างไร ทั้งนี้ มองว่าหากนโยบายดังกล่าวเหมือนโครงการคนละครึ่ง ที่รัฐออกครึ่งหนึ่ง ประชาชนออกครึ่งหนึ่ง น่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่า

เรื่องที่รัฐบาลขยายกรอบวงเงินนอกงบประมาณเป็น 45% เชื่อว่าตลาดกังวล ถ้านำเงินมาใช้แล้วสามารถสร้างการเจริญเติบโตได้เหมือนที่รัฐบาลบอกตั้งเป้าไว้ที่ GDP 5% ต่อปีได้ก็ไม่มีปัญหา ต้องรอรัฐบาลแจกแจงว่าจะใช้เต็มเลยหรือไม่ หรือใช้ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ GDP ปีผ่านๆ มาโตเฉลี่ยประมาณ 2.9% รัฐบาลต้องหารายได้เพิ่ม นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความโปร่งใส ถ้าสามารถชี้แจงว่าการขยายในม.28 นำไปใช้อะไร ก็จะคลายกังวล" นายบุรินทร์ กล่าว

นายบุรินทร์ กล่าวว่า การปรับลด GDP ลงนั้นไม่ได้หมายความว่ามาตรการ Quick Win ของรัฐบาลไม่ได้ผล แต่เนื่องมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ดี คาดว่านโยบาย Quick Win ของรัฐบาลจะเห็นผลในปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่ม GDP ในปี 67 ได้ 1% (ดิจิทัลวอลเล็ต มีผลต่อ GDP ประมาณ 0.4-0.6%) ประกอบกับช่วงต้นปีการส่งออกน่าจะดีขึ้น ส่งผลให้ในปี 67 คาดว่า GDP จะสูงกว่าปีนี้ แตะใกล้ 4%

*ฝากรัฐบาลช่วยดูแลปัญหาเชิงโครงสร้างหลายประเด็น

นอกจากนโยบาย Quick Win ของรัฐบาลแล้ว ฝากถึงรัฐบาลว่า ประเทศไทยยังมีความท้าทายต่อเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปทั้งในระยะสั้น และระยะยาว อาทิ

  • ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ในปี 72 จะมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ถึง 20% ซึ่งมีความกังวลในเรื่องรายได้ของผู้สูงอายุว่าจะมาจากที่ใด ประกอบกับปัญหาแรงงานลดลง ซึ่งรัฐบาลอาจต้องแก้ไขโดยการปรับอายุเกษียณอายุเป็น 63-65 ปีเหมือนที่หลายประเทศทำหรือไม่
  • ไทยยังติดกับดักรายได้ปานกลาง ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เป็นต้นมา รายได้ของประชากรลดลง โดยปัจจุบัน GDP ต่อหัวในปี 65 ของไทยอยู่ที่ 6,908.80 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี หากต้องการหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางต้องไปให้ถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี ดังนั้น รัฐบาลควรเพิ่มรายได้ และหาเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่
  • แรงงานในภาคเกษตร ที่มีแรงงานถึง 31.5% สร้างรายได้เพียง 8.9% ต่อ GDP รัฐบาลอาจต้องหาทางสร้างรายได้เพิ่ม หรืออาจย้ายจากภาคการเกษตรไปภาคอื่นๆ ที่รายได้ดี เป็นโจทย์ให้รัฐบาลระหว่างที่มีมาตรการพักหนี้เกษตรกร 3 ปีนี้ ทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้มากกว่า 9%
  • ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน ไทยอยู่อันดับ 3 รองจากประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันหากนักลงทุนต้องเลือกลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่งในอาเซียน ก็จะเลือกสองอันดับแรก แต่ถ้าเรื่องแรงงานราคาถูก หรือทรัพยากรธรรมชาติ ก็จะเลือกประเทศเวียดนามที่อยู่อันดับ 4 ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องหาจุดขาย เพื่อให้นักธุรกิจมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ