ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ย.ดีขึ้นต่อเนื่อง หลังภาพการเมืองชัด แต่ยังกังวลศก.โลกชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 9, 2023 10:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ย.ดีขึ้นต่อเนื่อง หลังภาพการเมืองชัด แต่ยังกังวลศก.โลกชะลอ

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ก.ย.66 อยู่ที่ระดับ 58.7 ปรับตัวดีขึ้นจากในเดือน ส.ค.ที่ 56.9

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่น หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และจัดทำนโยบายลดค่าครองชีพ ตลอดจนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ การเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังมีการจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วการเมืองต่างๆ ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากรัฐบาลใหม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วภายใต้นโยบายที่ได้ประกาศไว้

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ย.ดีขึ้นต่อเนื่อง หลังภาพการเมืองชัด แต่ยังกังวลศก.โลกชะลอ

แต่อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 53.2 ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 55.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 67.4 ซึ่งดัชนีทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.66 ถือว่าเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 42 เดือน นับตั้งแต่ มี.ค.63 ซึ่งดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 64.8

แต่อย่างไรก็ดี การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม ยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของรัฐบาลด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ม.หอการค้าไทย เคยส่งสัญญาณไปแล้วว่า นโยบายดังกล่าวควรทำแบบเฉพาะกลุ่ม และอาจแบ่งการให้เงินเป็นงวด ครั้งละ 3-4 พันบาท ไม่ใช่การให้เพียงครั้งเดียว 1 หมื่นบาท ซึ่งการที่นักเศรษฐศาสตร์ออกมาคัดค้านนโยบายนี้ เชื่อว่าเป็นเพราะมีความกังวลว่าเม็ดเงินที่จะใช้ในการทำงบประมาณในระดับ 5-6 แสนล้านบาทจะเกิดความคุ้มค่าต่อระบบเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ อีกทั้งกังวลต่อเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อตามมา อีกทั้งหากนโยบายนี้จะต้องกู้เงินจากต่างประเทศ ก็จะเป็นตัวเร่งให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับสูงขึ้นได้อีก

อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าที่จะทำนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน ก็เชื่อว่าคงต้องมีการพิจารณาปรับรายละเอียดเงื่อนไขบางประการ โดยเฉพาะการจำกัดพื้นที่การใช้จ่ายภายในรัศมี 4 กม.นั้น ก็ควรต้องขยายพื้นที่ให้กว้างขึ้น รวมทั้งอาจเพิ่มเงื่อนไขให้นำไปใช้จ่ายกับสินค้าที่มี local content ตลอดจนสินค้าที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือสร้างรายได้ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้เกิดเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบ และมีความคุ้มค่ามากขึ้น

"ถ้าเรากำหนดเงื่อนไขการใช้เงิน ให้ใช้กับสินค้าที่มี local content เงินก็จะหมุนได้หลายรอบ และคุ้มค่ามากขึ้น ให้คนไปซื้อของหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาชีพ แม้จะไม่ใช่เงินที่ไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แต่ก็เป็นโครงสร้างพื้นฐานของครัวเรือน...ต้องขึ้นกับการวางนโยบาย ที่จะทำให้นโยบายมีความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์กับประเทศมากขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ