ผู้ว่าฯ ธปท.ย้ำศก.ไทยต้องยืดหยุ่น-มีกันชน-สร้างโอกาสใหม่ สู่การเติบโตมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 3, 2023 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้ว่าฯ ธปท.ย้ำศก.ไทยต้องยืดหยุ่น-มีกันชน-สร้างโอกาสใหม่ สู่การเติบโตมีเสถียรภาพ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุ เศรษฐกิจไทยจะมั่งคั่งและยั่งยืนได้ ต้องมี resilient ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่เสถียรภาพ (stability) แต่ยังหมายถึงความทนทาน ยืดหยุ่น ล้มแล้วลุกได้เร็ว ถือเป็นเรื่องจำเป็น เพราะโลกตอนนี้เปลี่ยนไปชัดเจน ความเสี่ยงต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ไม่ใช่แค่ความเสี่ยงที่เราคุ้นเคย เช่น ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ความเสี่ยงใหม่ที่ไม่คุ้นชิน ทำให้คาดการณ์ลำบากว่าผลสุดท้าย และผลข้างเคียงของความเสี่ยงดังกล่าว จะเป็นอย่างไร

"เศรษฐกิจไทยจะมั่งคั่งและยั่งยืนได้ต้องมี resilient ไม่เช่นนั้น เศรษฐกิจไทยและภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ จะไม่สามารถรับมือ shock ที่รุนแรงได้ และอาจขาดโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากนวัตกรรม ทำให้การเติบโตไม่เข้มแข็ง ยั่งยืน และทั่วถึง" นายเศรษฐพุฒิ กล่าวปาฐกถา หัวข้อ "Towards a more resilient future ปรับโหมดนโยบายเศรษฐกิจการเงินสู่ความยั่งยืน" ในงานสัมมนา THAILAND NEXT MOVE 2024 The Next Wealth and Sustainability เปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ความมั่งคั่งยั่งยืน

ผู้ว่าฯ ธปท. ยังระบุว่า ความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่สูงขึ้นในปัจจุบัน มองว่าเป็นเรื่องสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ความไม่สงบในฉนวนกาซ่า ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์ซึ่งคาดไม่ถึง และจากเหตุการณ์นี้ก็จะมีผลข้างเคียงตามมาค่อนข้างสูงด้วยเช่นกัน โดยตอนนี้โลกอยู่ในโหมดที่ชะล่าใจไม่ได้

สำหรับประเทศไทยตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวสะท้อนว่ามีเสถียรภาพ โดยเฉพาะมิติด้านต่างประเทศ อาทิ ทุนสำรองระหว่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัด หนี้ต่างประเทศ งบดุลบริษัทขนาดใหญ่ และธนาคารพาณิชย์อยู่ในเกณฑ์ดี เป็นต้น มีโอกาสต่ำที่จะเกิดวิกฤติ แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ หนี้ครัวเรือน ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 91% ต่อจีดีพี แม้ว่าจะลดลงมาจากช่วงพีคที่ 94% ต่อจีดีพี แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงมาก ๆ เป็นมิติที่ยังมีปัญหา ต้องจับตาและใส่ใจ

สำหรับมิติในฝั่งการคลังปัจจุบันเทียบกับอดีตถือว่าอ่อนแอลง โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 62% ต่อจีดีพี แม้ว่าหลายประเทศจะสูงกว่าไทย แต่ถ้าเทียบกับอดีต ต้องยอมรับว่าหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากช่วงโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ราว 40% ต่อจีดีพี ในขณะที่ถ้าเทียบกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 40 หนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ที่ 60% ต่อจีดีพี ดังนั้น ระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบันที่ 62% ต่อจีดีพี จึงถือเป็นระดับที่สูงสุด

"ถ้าถามว่าสูงอยู่ในระดับที่มีโอกาสเกิดปัญหาหรือไม่ คำตอบคือ "ไม่ได้อยู่ในระดับที่จะเกิดปัญหา" แต่ก็เป็นตัวเลขที่ต้องใส่ใจ จะชะล่าใจไม่ได้" ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า นอกจากการดำเนินนโยบายไม่ให้เกิดปัญหาเสถียรภาพแล้ว อีกปัจจัยที่สำคัญคือ "ภูมิคุ้มกัน" หรือ "กันชน" ที่ดีที่จะรองรับช็อกที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะภาวะช็อกรูปแบบแปลกและใหม่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ไม่คุ้นชิน หากมีกันชนที่ดี เราจะได้รู้ว่าควรบริหารจัดการอย่างไร โดยภูมิคุ้มกันที่ดี คือ การมีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ภาครัฐต้องมีกระสุนเพียงพอ ทั้งกระสุนฝั่งนโยบายการเงิน หากเกิดเหตุการณ์จำเป็น ธนาคารกลางต้องมีความสามารถเพียงพอในการลดดอกเบี้ย หรือฝั่งนโยบายการคลังที่ควรเก็บกระสุนไว้รองรับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงที่อาจเกิดขึ้น และต้องมีทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อรองรับและช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีทางเลือกในการรองรับช็อกที่คาดไม่ถึง

"เราอยากเป็นเศรษฐกิจที่มี resilient ก็ต้องมีการเติบโต มีโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยบริบทสภาพเศรษฐกิจไทย ทุกอย่างนิ่ง การเติบโตไม่เพียงพอ จึงไม่ได้สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้คน ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืนได้ ถามว่าทำไม การที่จะมีโอกาสใหม่ จะช่วยให้ครัวเรือนหรือธุรกิจมีความหวัง มีโอกาสที่จะเห็นแนวทางเดินต่อไปได้ การสร้างโอกาสที่สำคัญ คือ โอกาสใหม่ ๆ เป็นอะไรใหม่ ๆ ถามว่าทำไม เพราะหากโตไปแบบเดิม ๆ ยิ่งวัน ก็ยิ่งลำบาก" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นอกจากนี้ เรื่องความยั่งยืนถือเป็นอีกหนึ่งกันชนที่สำคัญ หากเราไม่ปรับตัวในเรื่องนี้และยังเติบโตด้วยเครื่องยนต์แบบเดิมจะลำบาก ที่ผ่านมาเราไม่ได้ใส่ใจเรื่องการเติบโตเท่าที่ควร รายได้จากการเติบโตของเศรษฐกิจส่วนใหญ่ จึงกระจุกตัวที่กำไรของบริษัท จึงเป็นประเด็นว่าหากเศรษฐกิจไทยไม่สามารถเติบโตในรูปแบบใหม่ได้ โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตอย่างมีเสถียรภาพ และทนทานจริง ๆ บนฐานที่กว้างจะเป็นไปได้ลำบาก

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า หน้าที่ของ ธปท. เพื่อช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโต คือ ต้องดูเรื่องนโยบายให้เหมาะสม ผสมผสานนโยบายการเงินในรูปแบบที่เอื้อให้เศรษฐกิจโตได้อย่างมีเสถียรภาพ โจทย์ที่สำคัญตอนนี้ คือทำให้นโยบายต่าง ๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จึงนำไปสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป เหมาะสม เพื่อให้เศรษฐกิจโตได้ในระดับเหมาะสม เงินเฟ้อกลับเข้ากรอบ ไม่สร้างความไม่สมดุลด้านการเงินมากเกินไป

"ตอนนี้ต้องกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เกณฑ์ต่าง ๆ ที่ผ่อนปรนมากเกินไป ที่เคยเอื้อให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ช่วงโควิด-19 ต้องเก็บของพวกนี้ ในยามที่สภาวะเปลี่ยนแปลง โลกเจอความเสี่ยงใหม่ ๆ และคาดการณ์ไม่ถึง เรื่องพวกนั้นเป็นอะไรที่ไม่เหมาะสม เทียบเคียงเหมือนกับฝนตก ถนนมืด แต่เราเหยียบคันเร่งเต็มที่คงไม่เหมาะ" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ