BAY คาดกรอบบาทสัปดาห์นี้ 35.25-35.90 จับตาเงินเฟ้อสหรัฐฯ-ประชุม FED-ECB-BoE

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 12, 2023 17:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.25-35.90 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 35.31 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายผันผวนในช่วง 34.68-35.40 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์ฟื้นตัวเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเงินเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยค่าเงินเยนพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน หลังผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) กล่าวว่า บีโอเจมีทางเลือกว่าจะกำหนดเป้าหมายไปที่ดอกเบี้ยประเภทใด เมื่อถึงเวลาที่จะยุติการใช้ดอกเบี้ยติดลบ พร้อมระบุว่าการดำเนินนโยบายจะเผชิญความท้าทายมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า ทำให้นักลงทุนตีความว่าทางการญี่ปุ่นอาจจะเตรียมส่งสัญญาณในอนาคตอันใกล้ว่าจะยกเลิกการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปี 59 โดยผู้ร่วมตลาดบางส่วนคาดว่าบีโอเจอาจตัดสินใจส่งสัญญาณปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติในการประชุมในวันที่ 18-19 ธ.ค. ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 4,763 ล้านบาท และ 1,523 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี เผยว่า จุดสนใจจะอยู่ที่ข้อมูลเงินเฟ้อเดือนพ.ย.ของสหรัฐฯและการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)วันที่ 12-13 ธ.ค.ซึ่งคาดว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% ขณะที่ตลาดจะติดตามประมาณการเศรษฐกิจและดอกเบี้ย (Dot Plot) ชุดใหม่

ทั้งนี้ ตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯเอื้อให้เฟดสื่อสารว่าตลาดคาดการณ์เร็วเกินไปสำหรับจังหวะการเริ่มลดดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ดอลลาร์ได้แรงหนุนช่วงสั้นและเงินเยนพักตัว อย่างไรก็ดี เรามั่นใจมากขึ้นว่าแนวโน้มระยะยาวสำหรับการอ่อนค่าของเงินเยนตลอด 2 ปีที่ผ่านมาได้กลับทิศแล้วเนื่องจากความแตกต่างด้านนโยบายการเงินระหว่างญี่ปุ่นกับโลกกำลังแคบลง

นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) จะคงดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้ โดยอีซีบีจะพบความยากลำบากในการทำให้ตลาดเชื่อว่าอีซีบีจะใช้นโยบายตึงตัวไปอีกนานหากเงินเฟ้อยูโรโซนมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมายในปีหน้า จึงมองว่าเงินยูโรอาจอ่อนค่าลงต่อเนื่องในระยะนี้

ส่วนปัจจัยในประเทศ เงินเฟ้อทั่วไปของไทยแตะระดับต่ำสุดรอบ 33 เดือน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย.ของไทยลดลง 0.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานซึ่งไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.58% เนื่องจากมาตรการภาครัฐ เราคงมุมมองที่ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% เป็นระดับสูงสุดของวัฎจักรแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ