นายกฯ แถลง พ.ร.บ.งบปี 67 คาด GDP โต 2.7-3.7% ท่ามกลางความเสี่ยงในประเทศ-ตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 3, 2024 10:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฯ แถลง พ.ร.บ.งบปี 67 คาด GDP โต 2.7-3.7% ท่ามกลางความเสี่ยงในประเทศ-ตปท.
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระแรก โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม โดยก่อนเริ่มพิจารณา ตัวแทนวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน ยืนยันกรอบเวลาที่กำหนดไว้ 43 ชั่วโมง แบ่งเป็นฝ่ายค้าน จำนวน 20 ชั่วโมง, ฝ่ายรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 20 ชั่วโมงและประธานในที่ประชุม 3 ชั่วโมง

จากนั้นนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยเป็นงบประมาณรายจ่าย วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ประมาณการรายได้สุทธิ 2.78 ล้านล้านบาท มีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 693,000 ล้านบาท

การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ดังกล่าว อยู่ภายใต้ประมาณการเศรษฐกิจไทยของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในปี 2567 ที่คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะขยายตัวได้ 2.7-3.7% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 1.7-2.7% และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 1.5% ของ GDP

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากการลดลงของแรงขับเคลื่อนด้านการคลัง ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคการเกษตร ความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ท่ามกลางความเสี่ยงจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการปรับลดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2566 ลงมาเหลือเพียง 2.5% นั้น แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังสูญเสียความสามารถในการเติบโต ซึ่งเกิดมาจากปัจจัยผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจช่วงโควิด-19, การลงทุนของภาคเอกชนที่ลดลง การสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆที่สูงขึ้น เป็นต้น

ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปี 2567 สภาพเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะประสบกับแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ภาระหนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของการค้าโลก และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า จะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และภาวะทางการเงินตึงตัว ที่ต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับนโยบายที่อาจได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายของภาครัฐ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เนื่องมาจากประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบโดยตรง จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลนี้ที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเริ่มจากการสร้างอุปสงค์ (Demand) ในกลุ่มเป้าหมายของนโยบาย นำไปสู่การผลิตสินค้า ที่จะต้องมีการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อขยายการผลิต ก่อให้เกิดการขยายอุปทาน (Supply) มีการพัฒนาขีดความสามารถในภาคอุตสาหกรรม ยกระดับการผลิตและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานให้ใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้นทั้งประเทศ

ด้านการท่องเที่ยว ยังคงจะเป็นกลไกที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยทำให้การท่องเที่ยวเข้าถึงเมืองรองมากขึ้น สร้างงานและอาชีพในพื้นที่ดังกล่าว เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการในพื้นที่ โดยรัฐบาลจะดึงดูดการท่องเที่ยวด้วยมาตรการต่างๆ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น นำจุดเด่นทางวัฒนธรรมไปนำเสนอให้กับเวทีโลก สนับสนุนการใช้อัตลักษณ์ของไทยให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนา Soft Power ของประเทศในระยะยาวด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายการลดรายจ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ซึ่งครอบคลุมไปถึงหนี้นอกระบบ และหนี้ในระบบ การลดราคาพลังงาน ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างพลังงานให้เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็จะสามารถแข่งขันได้มากขึ้น และประชาชนไทยจะเข้าถึงแหล่งงานที่มีคุณค่ามากขึ้น สามารถพัฒนาความรู้ความสามารถที่มาจากภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชนระดับโลกได้

โดยรัฐบาลจะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม ซึ่งรัฐบาลเดินหน้าดึงดูดบริษัทชั้นนำต่างๆ ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อขจัดข้อจำกัดในการลงทุน วางแผนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นที่จะเอื้อให้เกิดการลงทุนเกี่ยวเนื่องให้ครอบคลุมทุกมิติ

นอกจากนี้ จะมีการลงทุนเรื่องน้ำที่ครอบคลุมทั้งระบบ เช่น น้ำในภาคการผลิต ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลจะขยายการเชื่อมต่อชลประทานให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรในการปลูกพืช เลี้ยงปศุสัตว์ ลดต้นทุนในการเข้าถึงน้ำ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องปัจจัยการผลิตอีกต่อไป และทำให้ภาคอุตสาหกรรมไม่เป็นกังวลกับการผลิต ให้ยังคงสามารถลงทุนต่อเนื่องได้

สำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำแนกตาม 6 ยุทธศาสตร์ และ 1 รายการ ดังนี้

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านความมั่นคง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 390,149.3 ล้านบาท คิดเป็น 11.2% ของวงเงินงบประมาณ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 393,517.9 ล้านบาท คิดเป็น 11.3% ของวงเงินงบประมาณ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 561,954.2 ล้านบาท คิดเป็น 16.1% ของวงเงินงบประมาณ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 834,240.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของวงเงินงบประมาณ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 131,292.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.8%ของวงเงินงบประมาณ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 604,804.5 ล้านบาท คิดเป็น 17.4%ของวงเงินงบประมาณ
  • รายการดำเนินการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ 564,041.2 ล้านบาท คิดเป็น 16.2% ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ และชดใช้เงินคงคลัง

นายเศรษฐา กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า งบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ. 2567 นี้ มีงบประมาณรายจ่าย 3.48 ล้านล้านบาท โดยจะมีที่มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ 2.787 ล้านล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 693,000 ล้านบาท แม้ว่างบประมาณรายจ่ายปีนี้จะเพิ่มขึ้น 9.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น 11.9% ทำให้สามารถจัดสรรงบไปลงทุนได้กว่า 717,722.2 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 4.1% และสามารถชดใช้เงินคงคลัง และชำระคืนต้นเงินกู้ได้กว่า 118,361.1 ล้านบาทอีกด้วย ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมทำให้รัฐบาลมีกรอบในการลงทุนในระยะกลางและยาวมากขึ้น ในปีงบประมาณ 2568

"การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินนโยบาย ทั้งในระยะสั้นไปจนถึงระยะยาว โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยมีเป้าหมายที่จะบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ลงทุนเพื่อสร้างการเจริญเติบโตของประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเป็นไปตามกฎหมาย" นายเศรษฐา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ